อัมพวา (บาลีวันละคำ 3,128)
อัมพวา
พจนานุกรมว่ามาจาก “อัมพวัน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อัมพวัน” และ “อัมพวา” บอกไว้ว่า –
“อัมพวัน, อัมพวา : (คำนาม) ป่าหรือสวนมะม่วง.”
ตามพจนานุกรมฯ เป็นอันว่า “อัมพวา” เป็นคำเดียวกับ “อัมพวัน” หมายถึง ป่าหรือสวนมะม่วง
“อัมพวัน” อ่านว่า อำ-พะ-วัน ประกอบด้วยคำว่า อัมพ + วัน
(๑) “อัมพ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อมฺพ” อ่านว่า อำ-พะ รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + พ ปัจจัย
: อมฺ + พ = อมฺพ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้อันผู้ต้องการผลไปหา” หมายถึง ต้นมะม่วง, ผลมะม่วง (the Mango tree, Mangifera Indica)
ในภาษาบาลียังมี “อมฺพ” อีกศัพท์หนึ่ง รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: อมฺพฺ + อ = อมฺพ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่งเสียงได้” หมายถึง น้ำ (water)
“อมฺพ” ที่หมายถึง น้ำ เป็นคำเดียวกับ “อมฺพุ” (อำ-พุ) คือศัพท์ที่หมายถึงน้ำนี้เป็นทั้ง “อมฺพุ” และ “อมฺพ”
ในที่นี้ “อมฺพ” หมายถึง มะม่วง
(๒) “วัน”
บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ :
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วน” ในสันสกฤตไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
อมฺพ + วน = อมฺพวน (อำ-พะ-วะ-นะ) หมายถึง ดงหรือป่ามะม่วง (a mango grove or wood)
“อมฺพวน” เขียนแบบไทยเป็น “อัมพวัน” และกลายรูปเป็น “อัมพวา” ตามเสียงพูด (ตามนัยแห่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
ขยายความ :
อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า “อัมพวา” ไว้ดังนี้ –
…………..
อัมพวา ๑. : อำเภอ ขึ้น จ.สมุทรสงคราม ละติจูด ๑๓^0 ๒๕’.๔ เหนือ ลองจิจูด ๙๙^0 ๕๗’.๘ ตะวันออก ตั้งที่ว่าการที่ ต.อัมพวา ทิศเหนือติดต่อกับ อ.บางคนที ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.เมืองสมุทรสงคราม ทิศใต้ติดต่อกับ อ.บ้านแหลม และ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี อ.ปากท่อ และ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี การคมนาคมจากเมืองไปอำเภอ โดยทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ ระยะทาง ๖ กม.
อ.อัมพวา เป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ ๑ และเป็นที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันทางราชการได้สร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ และพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ ณ บริเวณใกล้เคียงวัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระตำหนักที่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ประทับอยู่ในขณะนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ ณ บริเวณติดกับวัดอัมพวันเจติยาราม และได้สร้างพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานอยู่ใกล้พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระตำหนักของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์
อ.อัมพวา เดิมเรียก แขวงบางช้าง ตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ มี ๑๒ ตำบล คือ ๑. อัมพวา ๒. แควอ้อม ๓. ท่าคา ๔. บางแค ๕. บางช้าง ๖. บางนางลี่ ๗. ปลายโพงพาง ๘. แพรกหนามแดง ๙. ยี่สาร ๑๐. วัดประดู่ ๑๑. สวนหลวง ๑๒. เหมืองใหม่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้จักเมืองทั่วพิภพจบสากล
: บ้านของตนไม่รู้จักก็ดักดาน
4-1-64