ศรีสัจปานกาล (บาลีวันละคำ 3,706)
ศรีสัจปานกาล
กำหนดดื่มน้ำพระพิพัฒนสัตยา
อ่านว่า สี-สัด-จะ-ปา-นะ-กาน
แยกศัพท์เป็น ศรี + สัจ + ปาน + กาล
(๑) “ศรี”
บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
1 ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)
2 โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)
3 เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)
4 (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)
บาลี “สิริ” หรือ “สิรี” เป็น “ศฺรี” ในสันสกฤต (มีจุดใต้ ศ)
คำว่า “ศฺรี” ในภาษาสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
1 ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี
2 (ความหมายข้อนี้เป็น “สิรี” ด้วย) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม
และบอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –
1 มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง
2 ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
3 พลู. (คำมลายู); (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี
4 ผู้หญิง (คำเขมร = สี)
5 (คำที่ใช้ในบทกลอน) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)
(๒) “สัจ”
บาลีเป็น “สจฺจ” อ่านว่า สัด-จะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ส (แทนศัพท์ว่า “สนฺต” = สัตบุรุษ, คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + จ ปัจจัย, แปลง ภู เป็น จ
: ส + ภู > จ = สจ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)
(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + จ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ส)-รฺ (สรฺ > ส), ซ้อน จฺ
: สรฺ > ส + จฺ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)
“สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)
ในทางธรรม “สจฺจ” ยังหมายถึง พระนิพพาน โดยนัยว่า เพราะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นเหตุสิ้นราคะ หรือเพราะนับเนื่องในสัจจะสี่
บาลี “สจฺจ” สันสกฤตเป็น “สตฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.
(2) สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำศบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.
“สจฺจ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “สัจ” กรณีอยู่คำเดียวคงรูปเป็น “สัจจะ” ก็ใช้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สัจ, สัจ-, สัจจะ : (คำนาม) ความจริง, ความจริงใจ, เช่น ทำงานร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน. (ป. สจฺจ; ส. สตฺย).
(2) สัตย-, สัตย์ : (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ.(คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง. (ส.; ป. สจฺจ).
(๓) “ปาน”
บาลีอ่านว่า ปา-นะ รากศัพท์มาจาก ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ปา + ยุ > อน = ปาน แปลตามศัพท์ว่า “อันควรดื่ม” หมายถึง น้ำดื่ม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาน” ว่า drink, including water as well as any other liquid (เครื่องดื่ม รวมถึงน้ำและของเหลวชนิดอื่นๆ)
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “ปาน” และ “บาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปาน ๑, ปานะ : (คำแบบ) (คำนาม) เครื่องดื่ม, นํ้าสําหรับดื่ม. (ป.).
(2) บาน ๑, บาน– : (คำนาม) นํ้าสําหรับดื่ม, เครื่องดื่ม เช่น สุราบาน ชัยบาน อัฐบาน. (ป., ส. ปาน).
(๔) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
การประสมคำ :
๑ สจฺจ + ปาน = สจฺจปาน (สัด-จะ-ปา-นะ) แปลว่า (1) “น้ำดื่มที่แสดงถึงสัจจะ” (2) “การดื่มน้ำที่แสดงถึงสัจจะ”
๒ สจฺจปาน + กาล = สจฺจปานกาล (สัด-จะ-ปา-นะ-กา-ละ) แปลว่า “เวลาที่กำหนดให้ดื่มน้ำแสดงสัจจะ”
๓ สิริ + สจฺจปานกาล = สิริสจฺจปานกาล (สิ-ริ-สัด-จะ-ปา-นะ-กา-ละ) แปลว่า “เวลาที่กำหนดให้ดื่มน้ำแสดงสัจจะอันเป็นมงคล”
“สิริสจฺจปานกาล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ศรีสัจปานกาล” (สี-สัด-จะ-ปา-นะ-กาน)
อภิปรายขยายความ :
“ศรีสัจปานกาล” สะกดอย่างนี้ตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ น่า ๑ วันที่ ๘ เมษายน ๑๑๙ (ดูภาพประกอบ) ซึ่งมีข้อความขึ้นต้นว่า
…………..
พระราชพิธีศรีสัจปานกาล
แลตั้งองคมนตรี
วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เจ้าพนักงานได้จัดการที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อย่างทุกปีมา
เวลาค่ำ พระสงฆ์ ๓๘ รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเปนประธาน ได้มาพร้อมกันที่พระอุโบสถนั้น …
………..
………..
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นเอกสารบางฉบับสะกดคำนี้เป็น “ศรีสัจจปานการ” (-สัจจ– จ จาน 2 ตัว, –การ ร เรือ)
สมัยนั้น การสะกดคำยังไม่มีพจนานุกรมที่กำหนดไว้ชัดเจน นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเหตุที่คนเขียนสะกดคำตามใจชอบ บางที่คำเดียวกันนั่นเองตอนต้นสะกดอย่างหนึ่ง ตอนปลายสะกดเป็นอีกอย่างหนึ่งก็มี
ขอนักเรียนภาษาบาลีและภาษาไทยได้โปรดตรวจสอบกันต่อไปด้วยเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ประพฤติความสัตย์สุจริต
: เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วในตัว
#บาลีวันละคำ (3,706)
5-8-65
…………………………….
…………………………….