บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชุดหมอชีวก

โลหิตุปบาท (๒)

————–

เรื่องพระเทวทัตกลิ้งหินหมายสังหารพระพุทธองค์ และเรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เกี่ยวข้องกับสถานที่ ๓ แห่ง คือ เขาคิชฌกูฏ สวนมัททกุจฉิ และชีวกัมพวัน

……………

(๑) เขาคิชฌกูฏ

ชื่อนี้แปลว่า “ภูเขามียอดดุจแร้ง” เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งในเบญจคีรี (ภูเขาห้าลูก คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ ที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์) ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะคนมองเห็นยอดเขานั้นมีรูปร่างเหมือนแร้ง อีกนัยหนึ่งว่าเพราะมีแร้งอยู่บนยอดเขานั้น ยอดเขาคิชฌกูฏเป็นที่ซึ่งพุทธศาสนิกชนรู้จักกันมากแม้ในบัดนี้ เพราะเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับบ่อย และยังมีซากพระคันธกุฎี ที่ผู้จาริกมักขึ้นไปสักการะบูชา

(๒) สวนมัททกุจฉิ

ชื่อเต็มว่า “มัททกุจฉิมิคทายวัน” แปลว่า “สวนเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อมัททกุจฉิ” อยู่ที่พระนครราชคฤห์ เป็นแห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ก่อนที่จะทรงปลงพระอายุสังขาร

คำว่า “มัททกุจฉิ” อรรถกถา (คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๗) อธิบายไว้ว่า มาจากคำว่า “กุจฺฉิ มทฺทาปิตา

มทฺทาปิตา” แปลว่า บีบหรือรีด (crushed, defeated)

กุจฉิ” แปลว่า ท้อง ในที่นี้หมายถึงท้องที่กำลังตั้งครรภ์

อรรถกถาเล่าเรื่องว่า พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารเมื่อทรงครรภ์ โหรทำนายว่าลูกในท้องจะเป็นศัตรูของพ่อ จึงทรงลักลอบมาที่สวนแห่งนี้แล้วพยายาม “รีดลูก” (มทฺทาปิตา กุจฺฉิ) เพราะไม่ต้องการให้ลูกเกิด

เพราะมีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น คนจึงเรียกสวนแห่งนี้ว่า “มัททกุจฉิ” (มัทท = บีบ, รีด กุจฉิ = ท้อง, ครรภ์) แปลว่า สวนรีดลูก หรือสวนทำแท้ง

อรรถกถาดังกล่าวเล่าไว้แค่นี้

แต่อรรถกถาสามัญผลสูตร (คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๒๐๒) เล่าต่อไปว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงรู้ระแคะระคายเสียก่อนจึงทรงยับยั้งไว้ทัน การ “รีดลูก” ไม่สำเร็จ พระโอรสประสูติออกมาจนได้ ทรงตั้งชื่อแก้เคล็ดว่า “อชาตสัตตุ” แปลว่า “ไม่เกิดมาเป็นศัตรู” คือที่เรารู้จักกันว่า “พระเจ้าอชาตศัตรู” นั่นเอง แต่บางตำราแปลว่า “เป็นศัตรูตั้งแต่ยังไม่เกิด” เนื่องจากพระมเหสีแพ้พระครรภ์ปรารถนาจะเสวยโลหิตจากท่อนแขนของพระราชสวามี และเมื่อได้เสวยแล้วอาการแพ้พระครรภ์ก็สงบไป

(๓) ชีวกัมพวัน

เป็นสวนมะม่วงที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้หมอชีวกเป็นรางวัลในการที่หมอชีวกรักษาโรคริดสีดวงของพระองค์จนหายขาด

เมื่อพระราชทานแก่หมอชีวกแล้ว คนก็เรียกส่วนนี้ว่า “ชีวกัมพวัน” แปลว่า “สวนมะม่วงของหมอชีวก”

อรรถกถาสามัญผลสูตร (คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๑๙-๒๐๐) เล่าไว้ว่า เมื่อหมอชีวกได้ฟังพระธรรมเทศนาและบรรลุธรรมเป็นโสดาบันแล้ว ได้เกิดความคิดขึ้นว่า

“เราควรจะไปเฝ้าดูแลพระพุทธเจ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เขาคิชฌกูฏและพระวิหารเวฬุวันอยู่ไกลเกินไป แต่สวนอัมพวันของเราใกล้กว่า อย่ากระนั้นเลย เราจะสร้างวิหารถวายแด่พระผู้มีพระภาคในสวนอัมพวันของเรานี้”

หมอชีวกจึงสร้างที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม กุฎี และมณฑปเป็นต้น โดยเฉพาะได้สร้างพระคันธกุฎีสำหรับเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคด้วย นอกจากนี้ยังสร้างกำแพงสูง ๑๘ ศอกล้อมรอบสวน

เมื่อสร้างทุกอย่างพร้อมแล้ว ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานมาที่สวนมะม่วงของตน ถวายภัตตาหารแล้วหลั่งทักษิโณทกมอบถวายชีวกัมพวันเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา

……………

สถานที่ทั้ง ๓ แห่ง คือ เขาคิชฌกูฏ สวนมัททกุจฉิ และชีวกัมพวัน เกี่ยวข้องกับเหตุการณที่พระเทวทัตกลิ้งหินหมายสังหารพระพุทธองค์

เขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่เกิดเหตุ

สวนมัททกุจฉิ เป็นสถานที่ซึ่งพระภิกษุพาพระพุทธองค์ไปพักหลังจากเกิดเหตุ

ชีวกัมพวัน เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จต่อจากสวนมัททกุจฉิ อาจจะเพื่อความสะดวกที่หมอชีวกจะได้ถวายการรักษาพยาบาล

สถานที่ทั้ง ๓ แห่งนี้ ผม-ผู้เขียน และเชื่อว่าญาติมิตรส่วนมากด้วย-ยังมองไม่ออกว่า ถ้าวาดเป็นแผนผัง จะอยู่ตรงไหนส่วนไหนของเมืองราชคฤห์

ประมาณได้แค่ว่า ทั้ง ๓ แห่งนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก

อรรถกถาสามัญผลสูตร (คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๒๒๔) บรรยายไว้ว่า –

๑ สวนอัมพวันของหมอชีวกอยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับภูเขาคิชฌกูฏต่อกัน (ชีวกสฺส อมฺพวนํ ปาการสฺส จ คิชฺฌกูฏฺสฺส จ อนฺตรา โหติ)

๒ เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นครองราชย์แล้ว หมอชีวกนำเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกที่ชีวกัมพวัน ออกจากเมืองทางประตูทิศตะวันออก (ปาจีนทฺวาเรน  นิกฺขมิตฺวา …)

ท่านที่เก่งทางภูมิศาสตร์หรือชำนาญพื้นที่แถบเขาคิชฌกูฏ ขอแรงให้ความรู้แก่พวกเราหน่อยนะครับ เราท่านที่นั่งอยู่ในเมืองไทยจะได้นึกภาพพื้นที่ตรงนั้นในอินเดียออก

ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ เมษายน ๒๕๖๓

๑๘:๒๖

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

———–

ภาพประกอบ: จาก google

ความคิดเห็น

เมื่อไม่นานมานี้ผมโพสต์เรื่องหนึ่งและมีภาพประกอบที่หาได้จากโลกออนไลน์ ปรากฏว่ามีผู้รายงานว่าภาพที่ผมเอามาประกอบนั้นเป็นข้อมูลเท็จ ตั้งแต่นั้นมา เวลาจะเอาภาพจาก google มาประกอบเรื่องก็ชักรู้สึกเสียวๆ อยู่ร่ำไป

.

ภาพประกอบทั้ง ๓ ภาพนี้ ท่านผู้ใดรู้ข้อเท็จจริง ขอแรงบอกหน่อยนะครับว่าเป็นภาพจากเขาคิชฌกูฏในประเทศอินเดียจริงหรือเปล่า

————

ตํ  หิ  อชาตสตฺตุมฺหิ  กุจฺฉิคเต  ตสฺส  มาตรา  อยํ  มยฺหํ  กุจฺฉิคโต  คพฺโภ  รญฺโญ  สตฺตุ  ภวิสฺสติ  กิมฺเม  อิมินาติ  คพฺภปาตนตฺถํ  ตตฺถ  กุจฺฉิ  มทฺทาปิตา  ฯ  ตสฺมา  มทฺทกุจฺฉีติ  สงฺขํ  คตํ  ฯ  มิคานํ  ปน  อภยวาสตฺถาย  ทินฺนตฺตา  มิคทาโย  วุจฺจติ  ฯ

จริงอยู่ สวนนั้นเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูบังเกิดในครรภ์แล้ว พระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นมีความประสงค์จะให้ครรภ์ตกไป ด้วยทรงดำริว่า ครรภ์อันอยู่ในท้องของเรานี้จักเป็นศัตรูของพระราชา จะมีประโยชน์อะไรด้วยครรภ์นี้ ดังนี้ จึงให้ทำลายครรภ์ในสวนนั้น เพราะเหตุนั้น สวนนั้นจึงชื่อว่า มัททกุจฉิ ดังนี้

คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๐๗

———–

ทีฆนิกายฏฺฐกถา (สุมงฺคลวิลาสินี ๑) – หน้าที่ 224

                เล่มที่  ๔  สามญฺญผลสุตฺตวณฺณนา  หน้า  ๒๒๓

        กสฺมา  ปเนส  ภีโตติ  ฯ  อนฺธกาเรนาติ  เอเก  วทนฺติ  ฯ

ราชคเห  กิร  ทฺวตฺตึส  มหาทฺวารานิ  ฯ  จตุสฏฺฐิ  ขุทฺทก-

ทฺวารานิ  ฯ  ชีวกสฺส  อมฺพวนํ  ปาการสฺส  จ  คิชฺฌกูฏฺสฺส  จ 

อนฺตรา  โหติ  ฯ  โส  ปาจีนทฺวาเรน  นิกฺขมิตฺวา  ปพฺพตจฺฉายาย 

ปาวิสิ  ฯ  ตตฺถ  ปพฺพตกูเฏน  จนฺโท  ฉาทิโต    ปพฺพตจฺฉายาย

จ  รุกฺขจฺฉายาย  จ  อนฺธการํ  อโหสีติ  ฯ  ตํปิ  อการณํ  ฯ

ตทา  หิ  อุกฺกานํ  สตสหสฺสานํปิ  ปริจฺเฉโท  นตฺถิ  ฯ 

ถามว่า ก็เพราะเหตุไรพระราชานี้จึงทรงกลัว ?

อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เพราะความมืด คือเป็นที่รู้กันว่ากรุงราชคฤห์มีประตูใหญ่ ๓๒ ประตู ประตูเล็ก ๖๔ ประตู สวนอัมพวันของหมอชีวกอยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับภูเขาคิชฌกูฏต่อกัน พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก เสด็จเข้าไปในเงาของภูเขา ที่ตรงนั้นพระจันทร์ถูกยอดภูเขาบังไว้ ความมืดจึงมีขึ้นเพราะเงาของภูเขาและเงาของต้นไม้

แม้ข้อที่กล่าวมานั้นก็มิใช่เหตุอันสมควร ด้วยว่าในเวลานั้นคบเพลิงนับไม่ถ้วนเป็นแสนดวง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *