นาคาวโลก (บาลีวันละคำ 2,863)
นาคาวโลก
ไม่ใช่ “โลกของนาค” ดังที่อยากจะเข้าใจ
อ่านว่า นา-คา-วะ-โลก
แยกศัพท์เป็น นาค + อวโลก
(๑) “นาค”
บาลีอ่านว่า นา-คะ ใช้ในภาษาไทยคำเดียว อ่านว่า นาก ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า นา-คะ- หรือ นาก-คะ-
คำว่า “นาค” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –
(1) งูใหญ่มีหงอน ที่เรามักเรียกกันว่า “พญานาค” ภาษาบาลีว่า นาคราชา (นา-คะ-รา-ชา) เป็นความหมายที่เราคุ้นกันมากที่สุด
(2) “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา” = ช้าง หมายถึงช้างที่ฝึกหัดเป็นอย่างดีแล้ว เช่นช้างศึก
(3) “ต้นไม้ที่ไปไหนไม่ได้” = ไม้กากะทิง (ใบและผลคล้ายสารภี แต่ใบขึ้นสันมากและผลกลมกว่า เปลือกเมล็ดแข็ง ใช้ทําลูกฉลากหรือกระบวยของเล่น, สารภีทะเล หรือ กระทึง ก็เรียก)
(4) “ผู้ไม่มีผู้ที่เลิศกว่า” = ผู้เลิศ, พระอรหันต์
(5) “ผู้ไม่ทำบาปกรรม, ผู้ไม่มีบาป” = ผู้มุ่งจะบวช
การเรียกคนที่ไปอยู่วัดเตรียมตัวจะบวชหรือกําลังจะบวชว่า “นาค” มีมูลเหตุมาจากในเวลาทำพิธีบวช จะต้องระบุชื่อผู้บวชเป็นภาษาบาลี (ที่เรียกว่า “ฉายา” – ดูคำนี้) ในยุคแรกๆ มักสมมุติชื่อผู้บวชว่า “นาโค” ทุกคน (ปัจจุบันตั้งฉายาต่างกันออกไปเหมือนตั้งชื่อ)
คำว่า “นาโค = นาค” จึงเรียกกันติดปาก ใครจะบวชก็เรียกกันว่า “นาค” มาจนทุกวันนี้
ในที่นี้ “นาค” หมายถึง ช้าง ตามข้อ (2)
(๒) “อวโลก”
บาลีอ่านว่าอะ-วะ-โล-กะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ดู, แลดู) + อ (อะ) ปัจจัย,
: อว + โลกฺ = อวโลกฺ + อ = อวโลก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การมองลง” หมายถึง การมองดู, การเหลียวดู, การแลเห็น (looking, looking at, sight)
นาค + อวโลก ทีฆะ อะ ที่ อ-(ว..) เป็น อา (อว > อาว..)
: นาค + อวโลก = นาคอวโลก > นาคาวโลก (นา-คา-วะ-โล-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเหลียวมองเพียงดังการมองของช้าง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นาคาวโลก” (คำเดียวกับ “นาคาปโลก”) ว่า “elephant-look” (turning the whole body), a mark of the Buddhas (“มองอย่างช้าง” [หันกลับทั้งตัว], เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า)
อภิปราย :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาคาวโลก : (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยเยื้องมาข้างหน้าประทับไว้ที่พระเพลาข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระองค์ตามปรกติ เอี้ยวพระกายผินพระพักตร์ไปทางซ้าย (เป็นกิริยาทอดพระเนตรพระนครไพศาลีอย่างไว้อาลัย ด้วยจะเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย).”
คำอธิบายของพจนานุกรมฯ นี้น่าจะคลาดเคลื่อนจากคำอธิบายของอรรถกถา
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 ซึ่งอธิบายมหาปรินิพพานสูตร ในหน้า 274 บรรยายเรื่อง “นาคาวโลก” ไว้ว่า
………………..
พุทฺธานํ ปน สุวณฺณกฺขนฺธํ วิย เอกาพทฺธานิ หุตฺวา ฐิตานิ. ตสฺมา ปจฺฉโต อปโลกนกาเล น สกฺกา โหติ คีวํ ปริวตฺเตตุํ. ยถา ปน หตฺถินาโค ปจฺฉาภาคํ อปโลเกตุกาโม สกลสรีเรเนว ปริวตฺตติ. เอวํ ปริวตฺเตตพฺพํ โหติ.
พระอัฐิ (คือกระดูก) ของพระพุทธเจ้าติดเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนแท่งทองคำ เพราะฉะนั้น ในเวลาเหลียวหลัง จึงไม่สามารถเอี้ยวพระศอได้ อันว่าพญาช้างประสงค์จะเหลียวดูข้างหลังต้องหันกลับไปทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ต้องทรงหันพระวรกายไปทั้งพระองค์ฉันนั้น
………………..
คนธรรมดาเวลาจะดูอะไรที่อยู่ด้านหลัง ยืนอยู่กับที่ ลำตัวท่อนล่างอยู่ในทิศทางเดิม ลำตัวท่อนบนอาจเอี้ยวไปเล็กน้อย เอี้ยวคอหันไปด้านข้างให้สุดก็สามารถมองเห็นด้านหลังได้
แต่พระพุทธองค์ทรงทำเช่นนั้นไม่ได้ เหตุผลตามคำของอรรถกถาก็คือ “พระอัฐิของพระพุทธเจ้าติดเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนแท่งทองคำ”
คือถ้าจะหัน ต้องหันหมดทั้งพระองค์ แบบเดียวกับช้าง
ช้างมันหันเฉพาะคอกลับมาดูข้างหลังไม่ได้ ต้องหันหมดทั้งตัวฉันใด พระพุทธองค์จะทอดพระเนตรด้านหลัง ก็ต้องหันกลับมาทั้งพระองค์ฉันนั้น
และนี่เองคือเหตุผลที่เรียกว่า “นาคาวโลก” ซึ่งแปลว่า “เหลียวมองอย่างช้าง”
คือไม่ใช่เอี้ยวตัวมอง แต่ต้องหันทั้งตัวไปมอง-แบบกลับหลังหัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ามุ่งแต่จะตะลุยไปข้างหน้า
: จนลืมคุณค่าของสิ่งที่อยู่ข้างหลัง
#บาลีวันละคำ (2,863)
14-4-63