บทความเรื่อง จงเรียกมันว่าความเสื่อม
จงเรียกมันว่าความเสื่อม (13)
——————————
ตอน-ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
ญาติมิตรทั้งหลายคงจะเคยได้ยินคำอุทิศส่วนบุญที่เป็นคำกลอนขึ้นต้นว่า “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” กันมาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะเคยกล่าว เคยเขียน เคยใช้ด้วยตัวเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่ถ้าสังเกตก็จะเห็น ก็คือ ถ้อยคำสำนวนที่ปรากฏต่อๆ มามักจะผิดแผกแตกต่างกันออกไป
ผมเปิดดูในห้องสารพัดนึก google เห็นมีวางล่อตาอยู่หลากหลาย ขออนุญาตนำมาอ่านกันเพื่อให้เห็นว่าแต่ละสำนวนแตกดอกออกช่อกันไปขนาดไหนสัก ๒-๓ สำนวน
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
ทั้งคนรักคนชังแต่ครั้งไหน
ขอให้ได้ในกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัน
ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้เทอญ.
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะ ตั้งจิต อุทิศผล
บุญกุศล นี้แผ่ไป ให้ไพศาล
ถึงบิดา มารดา ครูอาจารย์
ทั้งลูกหลาน ญาติมิตร สนิทกัน
ผู้เคยร่วม กิจการ งานทั้งหลาย
ขอจงได้ ในกุศล ผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรม นายเวร และเทวัญ
ขอให้ท่าน ได้กุศล ผลนี้เทอญ ฯ
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะ ตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดา มารดา ครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
ทั้งคนเคยร่วมรักสมัครใคร่
ขอให้ได้ส่วนกุศลผลของฉัน
ทั้งพระราชา พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา
คณะรัฐบาล ทหาร ตำรวจ
และสาธุชนทั้งหลายที่ช่วยบำรุงพระพุทธศาสนา
ขอให้ได้ส่วนกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวร และเทวัญ
มีพระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ
ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔
พระภูมิเจ้าที่ นางพระธรณี
พระเพลิง พระพาย พระแม่โพสพ
พระแม่คงคา ตลอดทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ดวงวิญญาณทั้งหลาย
ที่ได้รับความทุกข์ ขอให้พ้นจากทุกข์
ที่ได้รับความสุข ขอให้สุขยิ่งๆขึ้นไป
ขอให้ท่านทั้งหลาย เหล่านั้น
จงได้รับอนุโมทนากุศลผลบุญ
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญกันแล้วในวันนี้
จงได้รับกันทุกคน ทุกตน เทอญฯ
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลแผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
คนเคยรักเคยชังแต่ครั้งไหน
ขอให้ได้บุญกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ท่านได้กุศลและผลบุญ
อีกปู่ย่าตายายทั้งหลายนั้น
ขอให้ท่านได้กุศลผลอุดหนุน
ทหารตำรวจตรวจแดนไทยจงได้บุญ
ช่วยป้องกันศัตรูภัยได้บุญนี้
สำหรับท่านหมั่นปฏิบัติวิปัสสนา
ขอให้พาได้พบสุขทุกวิถี
ประสบพบนิพพานของญาณมุนี
ในชาตินี้มีมรรคผลทุกคนเทอญ
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
ทั้งคนเคยร่วมกิจการงานทั้งหลาย
มีส่วนได้ในส่วนกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ได้ในส่วนกุศลผลบุญ
อีกปู่ย่า ตา ยาย ทั้งหลายนั้น
ขอให้ท่านได้กุศลผลอุดหนุน
ประชาชนคนทั้งหลาย รวมทั้งผู้ถวายปัจจัยสี่จงได้บุญ
ทั้งค้ำจุนสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกชาติชั้นวรรณะ
ทุกศาสนาทุกภาษา ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมแห่งโลก
จงได้รับส่วนบุญส่วนกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนี้
จงทุกตนทุกคนเถิด
………..
หาอีก ก็คงเจอสำนวนแปลกๆ ออกไปอีกเป็นอเนกอนันต์
แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครสนใจว่าข้อความตามสำนวนไหนถูกผิดอย่างไร
ใครชอบใจสำนวนไหนก็คว้าเอาไปใช้ตามใจชอบ
สมมุติว่าท่านเป็นเจ้าของสำนวนกลอนอุทิศส่วนบุญ “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” เป็นคนแรกที่แต่งกลอนบทนี้ขึ้นมา แล้วมาได้เห็นคนเอาไปพูดเอาไปบอกเอาไปเขียนเอาไปอ่านเอาไปอ้างชนิดแตกดอกออกช่อจนแทบไม่เห็นต้นเดิม-แบบนี้ ท่านจะทำอย่างไร?
—————–
วัดมหาธาตุราชบุรีสมัยผมเป็นสามเณรมาเรียนบาลี มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือในพรรษาพระเณรลงทำวัตรสวดมนต์ตอนตีสี่ทุกวัน ยกเว้นวันพระ พอทำวัตรสวดมนต์เสร็จก็จะมีพระเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอ่านหนังสือให้พระเณรฟัง
หนังสือที่อ่านประจำคือ “เมื่อเราบวช” พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) เป็นผู้แต่ง อ่านวันละประมาณ ๓-๔ หน้า พอสมควรแก่เวลา ต่อด้วยการปฏิบัติจิตภาวนาตามควรแก่สติกำลังจนกระทั่งได้เวลาออกบิณฑบาต
หนังสือ “เมื่อเราบวช” นี้ พออ่านเสร็จก็จะวางไว้ใต้โต๊ะหมู่บูชาในพระอุโบสถนั่นเอง เป็นโอกาสให้ผมแอบไปเปิดดูอยู่บ่อยๆ
ในหนังสือเล่มนี้แหละที่ผมได้เห็นคำกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” อันเป็นต้นฉบับที่พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) เป็นผู้แต่ง
พอมาเห็นกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” สำนวนแตกดอกออกช่อที่เผยแพร่กันอยู่ทุกวันนี้ ผมก็คิดถึงหนังสือ “เมื่อเราบวช” ขึ้นมา แต่ผมไม่มีหนังสือเล่มนี้ จึงถามไปยังมิตรสหาย ก็มีท่านผู้หนึ่งบอกว่าท่านมี ผมก็ขอให้ท่านช่วยดูให้ทีว่ามีคำกลอนบทนี้หรือไม่ ถ้ามีก็ขอแรงถ่ายรูปข้อความที่เป็นคำกลอนนั้นส่งมาให้หน่อย
ปรากฏว่าในหนังสือ “เมื่อเราบวช” มีคำกลอนบทนี้จริงๆ ญาติมิตรท่านนั้นก็ถ่ายส่งมาให้ตามภาพประกอบที่เห็นอยู่นั้น
—————–
คำกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” ตามต้นฉบับเป็นดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาและอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
คนเคยร่วมเคยรักสมัครใคร่
มีส่วนได้ในกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้ เทอญฯ
………….
หมายเหตุ
คำว่า “เทวัญ” ในต้นฉบับหนังสือสะกดผิดเป็น “เทวัน”
พจนานุกรมมีทั้ง “เทวัญ” และ “เทวัน” แต่ความหมายต่างกัน
เทวัญ : (คำนาม) พวกชาวสวรรค์ที่มีตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์.
เทวัน : (คำนาม) พี่เขย, น้องเขย. (ส.).
ในที่นี้มุ่งอุทิศส่วนบุญให้ชาวสวรรค์ ไม่ใช่มุ่งอุทิศให้พี่เขยน้องเขย
อย่างนี้แก้ตัวสะกดได้ แต่คำและความยังคงเดิม
โปรดเปรียบเทียบคำกลอนที่เผยแพร่กันทั่วไปกับคำกลอนที่เป็นต้นฉบับว่าผิดเพี้ยนกันไปอย่างไรบ้าง
ใคร่ขอร้องมา ณ ที่นี้ว่า
๑ ถ้าจะใช้คำกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” ของท่าน ก็ขอให้นำไปใช้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามต้นฉบับ
๒ กรุณาอย่าเอาของท่านไปต่อเติมเสริมแต่งเอาตามใจชอบ ทำแบบนั้นไม่ใช่วิถีของผู้เจริญ
๓ ถ้าอยากจะใช้ของตัวเอง ก็แต่งใหม่เป็นสำนวนของตัวเองล้วนๆ อย่าให้ไปเกี่ยวกับของท่าน และอย่าเอาของท่านมาแปะมาปะตรงนั้นตรงโน้น
เรื่องนี้บอกให้รู้ว่า คนทุกวันนี้ ๑ ละเลยการศึกษาสืบค้นเป็นอันมาก ๒ มักง่ายกันเป็นอันมาก และ ๓ ขาดความรับผิดชอบกันเป็นอันมากอีกด้วย
ลักษณะแบบนี้คงไม่ต้องถามว่าจะเรียกมันว่าอะไร เพราะตอบได้เลยว่า จงเรียกมันว่าความเสื่อม
แต่การที่เราพากันปล่อยปละละเลย ไม่ช่วยกันสอดส่องดูแล ตลอดจนมักจะคิดว่าธุระไม่ใช่
และที่ลึกไปกว่านั้นคือพากันอ้างว่า เรื่องแบบนี้มันเป็นธรรมดา ที่ไหนๆ มันก็เป็นแบบนี้ เรื่องแค่นี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ที่บ้านโน้นเมืองโน้นเขาทำกันหนักกว่านี้ ยุคสมัยแบบนี้มันก็ต้องเป็นแบบนี้หละ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปทำอะไรกับมันให้เหนื่อยหรอก ปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้แหละดีแล้ว
ความคิดความรู้สึกแบบนี้ต่างหากที่ควรจะถามว่า-จะให้เรียกว่าอะไรดี
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐
๑๓:๕๕
……………..
ตอน 14 ไม่ยึดมั่นถือมั่น
……………..
ตอน 12 มองภาษาไทย เห็นจิตใจของผู้คน
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1573599696067095
……………..
และมีใน: