วาท (บาลีวันละคำ 4,104)
วาท
คำสั้น แต่ความหมายยาว
“วาท” ภาษาไทยอ่านว่า วาด บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ ยืดเสียง อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)
: วทฺ + ณ = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาท, วาท– : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”
คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :
(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)
(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)
(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)
(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)
บาลี “วาท” สันสกฤตก็เป็น “วาท”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วาท : (คำนาม) สิทธาวสาน, ประติพจน์, ผล; พจน์; ถ้อยคำของผู้อยากรู้ความจริง; ฟ้อง, ข้อหาหรือกล่าวโทษ; ศัพท์, เสียง; demonstrated conclusion, reply, result; discourse; the speech of one desirous to know the truth; a plaint, an accusation; sound.”
ขยายความ :
ในภาษาไทย คำว่า “วาท” เรามักจะนึกถึงความหมายอย่างเดียว คือ “คำพูด” หรือ “การพูด” คือการเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำ หรือกว้างออกไปถึงการเขียนก็มีบ้าง แต่มักเน้นที่การพูด หรือคำพูด
แต่ในภาษาบาลี คำว่า “วาท” มิได้หมายถึงเฉพาะคำพูดหรือการพูดอย่างเดียว แต่มีความหมายกว้างออกไปถึงการแสดงความคิดเห็น ตัวความคิดเห็นที่แสดงออกมา ความเชื่อและการปฏิบัติตามความเชื่อที่เรียกลัทธิหรือศาสนา ทัศนคติหรือความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือในปัญหาหรือข้อถกเถียงอันใดอันหนึ่ง โดยไม่ได้เน้นที่วาจาถ้อยคำที่เปล่งเสียงออกมาหรือกิริยาที่แสดงออก กล่าวคือจะทำด้วยประการใดๆ ก็ได้ที่ทำให้ใครๆ รู้และเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดหรือความคิดเห็นของตน ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า “วาท” ได้ทั้งสิ้น
แถม :
“วาท” ที่เราควรจะคุ้นก็อย่างเช่น “เถรวาท” “อาจารยวาท” หรือ “อาจริยวาท” อันเป็นคำเรียกนิกายใหญ่ของพระพุทธศาสนา
“วิวาท” ก็มาจาก “วาท” คำนี้
“วาทกรรม” คำที่ค่อนข้างใหม่ก็ “วาท” คำนี้เช่นกัน
“วาท” อีกคำที่น่าจำไว้ คือ “นานาวาท” เป็นคำหนึ่งในคำจำกัดความสิ่งที่เรียกว่า “วิวาทาธิกรณ์” คือกรณีที่เกิดการโต้เถียงกัน
ขอยกตัวอย่างเรื่องที่โต้เถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย อันนับว่าเป็น “วิวาทาธิกรณ์” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นความรู้ ดังนี้ –
…………..
(1) ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้คือธรรม อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ไม่ใช่ธรรม
(2) ฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้คือวินัย อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนี้ไม่ใช่วินัย
(3) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส
(4) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเคยประพฤติมา อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่เคยประพฤติมา
(5) ฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อีกฝ่ายหนึ่งว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ
(6) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติ อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติ
(7) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติเบา อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติหนัก
(8 ) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติเพียงบางส่วน อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติหมดทุกส่วน
(9) ฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติชนิดเลวทราม อีกฝ่ายหนึ่งว่าทำอย่างนี้เป็นอาบัติก็จริง แต่ไม่ใช่เลวทราม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนเขลา ใช้ความเห็นต่างเป็นทางสร้างความแตกแยก
: คนฉลาด ใช้ความเห็นแตกเป็นทางสร้างความสามัคคี
#บาลีวันละคำ (4,104)
7-9-66
…………………………….
…………………………….