บทความเรื่อง ขยะสังคม
ขยะสังคม : ภาคผนวก
อย่าปล่อยให้คนโง่ลอยนวล
—————————-
“อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” – เคยเป็นวลีฮิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง
แต่เวลานี้เลิกฮิตกันแล้ว
ไม่ใช่เพราะคนชั่วหมดไป
แต่เพราะคนดีท้อแท้ และยอมแพ้ให้คนชั่ว
“อย่าปล่อยให้คนโง่ลอยนวล” – ในความหมายของผม หมายถึงเมื่อเห็นใครทำอะไรไม่ถูกไม่ควร เราไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ
แต่ควรช่วยกันทักท้วง เตือนติง
หลักของพระพุทธศาสนาคือ ทักท้วงเตือนติงกันด้วยท่าทีเป็นมิตร
หรือใช้สำนวนตามคัมภีร์ก็ว่า –
ด้วยกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
ด้วยวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
ด้วยมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
เวลานี้เราพากันบกพร่องถึง ๒ ชั้น
ชั้นหนึ่งคือ ไม่ทักท้วงเตือนติงกัน
ชั้นที่สองคือ ไม่มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน
(๑) ไม่ทักท้วงเตือนติงกัน – เรามีเหตุผลเยอะแยะไปหมดที่จะยกขึ้นมาอ้าง เหตุผลที่เป็นหลักก็คือ ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน อย่าเสือก
โดนข้อนี้ข้อเดียว เราก็จังงังกันไปหมดแล้ว
(๒) ไม่มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน – อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทักท้วงเตือนติงกัน แต่แทบทุกเรื่อง เรามักมองกันด้วยความเป็นมิตรไม่ได้ มองไม่เป็น เห็นไม่ชัด
เราคิดไม่ได้เลยว่า คนที่กำลังทำไม่ถูกไม่ควรนั้น —
เป็นพ่อแม่เรา
เป็นลูกหลานเรา
เป็นญาติพี่น้องเรา
เป็นเพื่อนรักที่สุดของเรา
คิดไม่เป็น เห็นไม่ได้
ก็มันไม่ใช่… ของเราจริงๆ นี่หว่า จะให้นึกเอาเองได้ไง
เราจะอ้างแบบนี้
การไม่ทักท้วงเตือนติงกัน ผู้รู้ท่านยืนยันแล้วว่า-เป็นการปล่อยให้ขยะเน่าเหม็นอยู่ในสังคมนั่นเอง
ทั้งสังคมบ้านเมืองและสังคมศาสนา อยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน
เรื่องนี้ท่านบรรยายไว้ในคัมภีร์เป็นพันปีมาแล้ว
ในเมืองไทยเรามีพระเณรศึกษาเรื่องนี้และสอบได้เป็นมหาเปรียญมาแล้วเป็นอเนกอนันตัง
แต่ไม่มีใครเอาไปปฏิบัติจริงๆ จังๆ
เพราะส่วนมากเรียนเพื่อสอบได้มากกว่าที่จะเรียนเพื่อเอาความรู้ไปปฏิบัติจริงๆ
———————
หากจะมีการทักท้วงเตือนติงกันอยู่บ้าง วิธีการที่ทักท้วงก็ถูกมองไปว่าเป็นการ “จับผิด” เพราะขาดศิลปะในการทักท้วง
“ศิลปะในการทักท้วง” ก็อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า ทักท้วงเตือนติงกันด้วยท่าทีเป็นมิตร
ด้วยกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
ด้วยวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
ด้วยมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา
หรือถอดออกมาเป็นหลักปฏิบัติก็คือ – มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน
คือต้องฝึกคิดให้ได้ว่า คนที่กำลังทำไม่ถูกไม่ควรนั้น —
เป็นพ่อแม่เรา
เป็นลูกหลานเรา
เป็นญาติพี่น้องเรา
เป็นเพื่อนรักที่สุดของเรา
ต้องฝึกมองอย่างนี้ให้ได้
แม้กับคนที่เราไม่เคยรู้จักเลย
หรือแม้กับคนที่เรารู้ประจักษ์ใจว่า-เลวสุดๆ
ก็ให้เกิดความรู้สึกได้ชัดเจนทันทีว่า –
นั่นคือพ่อแม่เรา
นั่นคือลูกหลานเรา
นั่นคือญาติพี่น้องเรา
นั่นคือเพื่อนรักที่สุดของเรา
———————
โปรดทราบเถิดว่า เรื่องนี้เราปฏิบัติผิดพลาดกันไปแทบจะทั้งบ้านทั้งเมือง
นั่นคือ การแผ่เมตตา-อย่างผิดพลาด
หรือถ้าครบชุดก็คือการแผ่พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยมีเมตตาเป็นตัวนำ
เมตตาคืออะไร
เมตตาคือการตั้งความรู้สึกไว้ให้มั่นคงว่า-คนนั้นคือ “มิตร” ของเรา
เนื้อแท้ของเมตตาอยู่ที่นี่-มองกันอย่างมิตรรัก
เราได้แต่สอนกันให้สวด (เวลานี้คือกางหนังสืออ่าน) ว่า สัพเพ สัตตา … จนกระทั่งมีคนเล่นตลกเอาคำแผ่เมตตาไม่ล้อเลียนเล่นอย่างสนุกสนาน
แต่เราแทบไม่เคยสั่งสอนกันให้มองเพื่อนมนุษย์-อย่างมิตรรัก
ทำ พูด คิด ต่อเพื่อนมนุษย์-เหมือนทำกับเพื่อนรักของเรา
เพราะฉะนั้น เราก็อ่านคำแผ่เมตตาได้กันทั้งบ้านทั้งเมือง
แต่แทบจะไม่มีเมตตาจริงๆ อยู่ในหัวใจ
ทักท้วงเตือนติงกัน ก็ทำอย่างก้าวร้าว ดุเดือด เชือดกันซิบๆ
เป็นเหตุให้ท่านจำพวกหนึ่งมองไปว่า เป็นการ “จับผิด”
เราแยกไม่เป็น เห็นไม่ถูกว่า “จับผิด” กับ “ชี้โทษ” ต่างกันอย่างไร
ทักท้วงเตือนติงกันด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม คือทำอย่างไร
นั่นคือเราไม่ได้สอนเน้นกันให้มองเพื่อนมนุษย์ว่าเป็น “เพื่อนรัก” ตามแก่นแท้ของเมตตา
เมื่อเห็นคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นการ “จับผิด” ก็ต้องมีผู้แสดงโทษของการจับผิด เป็นเหตุให้ผู้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะเราตำหนิกันว่า “เสือกไม่เข้าเรื่อง”
เปิดโอกาสให้คนผิดคนชั่วทำผิดทำชั่วกันไปตามสบาย
การไม่ทักท้วงเตือนติงก็เลยกลายเป็นข้ออ้างของคนผิดคนชั่ว-คืออ้างว่า –
“ไม่เห็นมีใครว่าอะไรนี่”
“ที่ฉันทำนี่ ถ้ามันไม่ถูกไม่ดี ก็ต้องมีคนทักท้วงแล้วสิ นี่ไม่เห็นมีใครว่าอะไร”
พอมีใครว่า คุณก็ด่าเขาว่า “อย่าเสือกเรื่องของชาวบ้าน”
พอไม่มีใครว่า คุณก็ยกเป็นข้ออ้างทันที-ไม่เห็นมีใครว่าอะไรนี่
เจริญเถิด
———————
การแผ่เมตตาด้วยการอ่านคำแผ่เมตตา แล้วก็เชื่อว่าฉันแผ่เมตตาแล้ว เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง
จะยังทำแบบนั้นก็ได้ ก็ดี แต่ต้องก้าวหน้าต่อไปให้ถึงแก่นแท้ของเมตตา
แผ่เมตตา-คือการฝึกใจตัวเองให้มองเห็นเพื่อนร่วมโลกเป็น “เพื่อนรักของเรา” และต้องเห็นเช่นนั้นจริงๆ ด้วยหัวใจ ไม่ใช่เพียงด้วยคำพูดจากหน้าหนังสือ
เรื่องการแผ่เมตตานี้ได้ยินว่ามีอาจารย์บางสำนักท่านโต้แย้งว่า คนจะแผ่เมตตาได้ต้องปฏิบัติธรรมจนได้ฌาน คนไม่ได้ฌานแผ่เมตตาไม่ได้
ผมไม่มีความประสงค์จะอภิปรายประเด็นนี้ แต่ผมเชื่อโดยสุจริตว่า-มนุษย์ธรรมดาแม้ไม่ได้ฌานสมาบัติก็ย่อมสามารถตั้งความรู้สึกต่อเพื่อนร่วมโลกได้อย่างแน่นอนว่า “บุคคลนี้เป็นเพื่อนรักของเรา”
ผมว่าเท่านี้ก็พอแล้วในระดับคนธรรมดา
ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราจะได้สัมผัสแก่นของเมตตาจริงๆ คือเห็นกันเป็นเพื่อนรักของกันและกันได้จริงๆ
ที่ผิดพลาดก็คือเราไม่ได้เน้นย้ำกันให้มองเพื่อนร่วมโลกแบบนี้
แต่เราบอกกันว่า ให้กางหนังสืออ่านว่า สัพเพ สัตตา … ไปจนจบ
นั่นแหละคือ “แผ่เมตตา”
ผมไม่ได้ปฏิเสธการทำเช่นนั้น
ตรงกันข้าม-ขออนุโมทนา
แต่ขอร้องให้ก้าวต่อไปให้ถึงแก่นแท้ของเมตตา-คือ เห็นเพื่อนร่วมโลกเป็นเพื่อนรักของกันและกันจริงๆ
———————
เมื่อเห็นกันเป็นเพื่อนรักของกันและกันได้จริงๆ เช่นนี้ วิธีปฏิบัติต่อกัน-เมื่อจะทักท้วงเตือนติง ก็จะเป็นไปอย่างที่เราทำกับเพื่อนรักของเรา-คือด้วยท่าทีที่เป็นมิตร
เพื่อให้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด
หันมาดำเนินในทางที่ถูกต้องดีงาม
ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนเราคลุกอยู่กับสิ่งโสโครก
ซึ่งไม่มีเพื่อนแท้ที่ไหนปล่อยให้เพื่อนเป็นเช่นนั้น
นอกจาก-เราจะยังเห็นอยู่ว่า เขาไม่ใช่เพื่อนเรา
ซึ่งก็เท่ากับเรากำลังปล่อยให้คนโง่คนหนึ่งลอยนวลอยู่ในสังคม
“คนโง่คนหนึ่ง” คือตัวเราเอง
ที่เรียกว่า “โง่” เพราะไม่สามารถรักเพื่อนร่วมโลกอย่าง “เพื่อนรัก” ได้-ทั้งๆ ที่มนุษย์ธรรมดาสามารถฝึกให้รักได้อย่างไม่เหลือวิสัย
แต่เรากลับไม่ฝึก ไม่ทำ
โง่ไหม
…………..
ใครเคยคิดบ้างว่า ศาสนาพระศรีอารย์ที่เราใฝ่ฝันจะได้ไปเกิดนั้นคืออะไร
“พระศรีอารย์” ที่เราเรียกกันนั้นเราตัดคำมาเรียก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นไม่ได้ชื่อ “พระศรีอารย์”
แต่ชื่อ “เมตไตรย”
เราประดิษฐ์คำประกอบพระนามว่า “พระศรีอริยเมตไตรย”
แล้วตัดเอาเฉพาะคำว่า “พระศรีอริย” มาเรียกเป็น “พระศรีอารย์”
พระนามจริงๆ คือ “เมตไตรย” ไม่เอามาเรียก ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดชนิดหนึ่ง
“เมตไตรย” แปลว่า “ผู้ดำรงอยู่ในเมตตา” “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยเมตตา”
ใครจะได้ไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์หรือไม่ ไม่มีใครรับประกันให้กันได้
แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกด้วยท่าทีที่เป็นมิตร
มองเพื่อนร่วมโลกว่าเป็นมิตรรักของเรา
เราก็อยู่ในศาสนาพระศรีอารย์ทันที ที่นี่ เดี๋ยวนี้
ศาสนาพระศรีอารย์มีอยู่ตรงหน้านี่เอง แต่เราไม่เอา ไม่ทำกัน กลับไปหวังรอศาสนาพระศรีอารย์ในอนาคต
โง่ไหม
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒
๑๑:๔๘