บาลีวันละคำ

วินิจฉัยเภรี (บาลีวันละคำ 4,512)

วินิจฉัยเภรี

เรียนบาลีจากชื่อกลอง

อ่านว่า วิ-นิด-ไฉ-เพ-รี

ประกอบด้วยคำว่า วินิจฉัย + เภรี

(๑) “วินิจฉัย” 

บาลีเป็น “วินิจฺฉย” อ่านว่า วิ-นิด-ฉะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นิ + (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ฉิ (ธาตุ = ตัด) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน จฺ ระหว่าง นิ กับ ฉิ, แปลง อิ (ที่ ฉิ) เป็น อย (สูตรเต็มว่า “แปลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย”) 

: วิ + นิ + จฺ + ฉิ = วินิจฺฉิ + = วินิจฺฉิ > วินิจฺฉย แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การตัดลงไปโดยวิเศษ” = ตัดอย่างเด็ดขาดแน่นอน

(2) “การตัดสินโดยอาการหลายอย่าง” = พิจารณาถึงเหตุผลหลาย ๆ อย่างแล้วจึงตัดสิน 

(3) “การตัดสินโดยน้อมไปสู่วิธีต่าง ๆ” = นำเอาเรื่องที่ตัดสินไปเทียบเคียงกับเรื่องต่าง ๆ

วินิจฺฉย” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) การวินิจฉัย, การแสดงความแตกต่าง, ความคิด, ความเห็นที่หนักแน่น; ความรู้ตลอด (discrimination, distinction, thought, firm opinion; thorough knowledge)

(2) การตัดสินใจ; การสืบสวน, การพิจารณา, คำวินิจฉัย (decision; investigation, trial, judgment)

(3) ศาล, ห้องพิพากษา (court house, hall of judgment)

(4) ขบวนการของการตัดสินใจ, การวิเคราะห์อย่างละเอียด, การประชุมปรึกษา, การพิจารณา, การสืบให้รู้แน่ (process of judgment, detailed analysis, deliberation, consideration, ascertainment) (เป็นศัพท์เฉพาะในตรรกศาสตร์และจิตวิทยา) 

นัยหนึ่งว่า วินิจฺฉย ประกอบด้วย วิ + นิจฺฉย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิจฺฉย” (ไม่มี “วิ”) เป็นอังกฤษว่า discrimination, conviction, certainty; resolution, determination (ความพินิจพิเคราะห์, ความเชื่อมั่น, ความแน่นอน; การตัดสินใจ, ความตั้งใจ)

วินิจฺฉย สันสกฤตเป็น “วินิศฺจย” ภาษาไทยเขียนอิงบาลีเป็น “วินิจฉัย” แต่ก็มีคำที่เขียนอิงสันสกฤตว่า “พินิศจัย” แต่ไม่ได้ใช้คำนี้ในการพูดการเขียนโดยทั่วไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วินิจฉัย : (คำกริยา) ตัดสิน, ชี้ขาด, เช่น เรื่องนี้วินิจฉัยได้ ๒ ทาง; ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ, เช่น คณะกรรมการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกเพื่อวินิจฉัยปัญหาให้รอบคอบยิ่งขึ้น. (ป.).”

ความหมายของ “วินิจฉัย” ในภาษาไทยที่ว่า “ตัดสิน” น่าจะถอดออกมาจาก “ฉิ” ธาตุ ที่หมายถึง “ตัด” นั่นเอง และ “สิน” ในภาษาไทยหมายถึง ตัด, ฟันให้ขาด “ตัดสิน” จึงเป็นคำซ้อน (ตัด คือ “สิน” และ สิน ก็คือ “ตัด”)

ในทางปฏิบัติ ความหมายของ “วินิจฉัย” ก็อยู่ในรากศัพท์นั่นเอง คือ “การตัดลงไปโดยวิเศษ” หมายถึง ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแน่นอนด้วยเหตุผลที่รอบคอบ ไม่มีสงสัยลังเลใจ พูดตามภาษาปากสมัยนี้ก็คล้ายกับสำนวนว่า “ฟันธง”

(๒) “เภรี” 

บาลีเป็น “เภริ” อ่านว่า เพ-ริ (-ริ ไม่ใช่ –รี) รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ริ ปัจจัย, แผลง อี ที่ ภี เป็น เอ, (ภี > เภ

: ภี + ริ = ภีริ > เภริ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุกลัวแห่งศัตรู” (คือทำให้ศัตรูกลัวได้) หมายถึง กลอง (the drum) 

บาลี “เภริ” ภาษาไทยใช้ทั้ง “เภริ” และ “เภรี” แต่เสียง “-รี” ฟังดูนุ่มนวลกว่า เราจึงมักได้ยินพูดกันทั่วไปว่า เพ-รี คือสะกดเป็น “เภรี” มากกว่า “เภริ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เภริ, เภรี : (คำนาม) กลอง เช่น อินทเภรี ชัยเภรี, บางทีใช้เป็น ไภรี หรือ ไภริน ก็มี. (ป.).”

วินิจฺฉย + เภริ = วินิจฺฉยเภริ (วิ-นิด-ฉะ-ยะ-เพ-ริ) แปลว่า “กลองเพื่อการวินิจฉัย” หมายถึงกลองที่ตีขึ้นเพื่อบอกผู้มีอำนาจให้รู้ว่ามีเหตุเกิดขึ้น ขอให้มาตัดสินเพื่อแก้ไขเหตุนั้น ๆ หรือขอให้มารับเหตุนั้น ๆ ไปตัดสินแก้ไข

วินิจฺฉยเภริ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วินิจฉัยเภรี” (วิ-นิด-ไฉ-เพ-รี) 

วินิจฉัยเภรี” เป็นชื่อกลองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ขยายความ :

คลังความรู้ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคม 2552 เรื่อง “กลองวินิจฉัยเภรี” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

                         กลองวินิจฉัยเภรี

          … หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึง “กลองวินิจฉัยเภรี” ว่า เป็นกลองที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปบูรณปฎิสังขรณ์เมืองจันทบุรี เป็นผู้สร้างและส่งเข้ามาถวายเมื่อ ค.ศ. ๒๓๘๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า ความทุกข์ร้อนของราษฎรที่จะร้องถวายฎีกาได้ก็ต่อเมื่อเวลาเสด็จออก แต่ถ้าให้ตีกลองร้องฎีกาได้ทุกวัน ก็จะสามารถบรรเทาทุกข์ของราษฎรได้ และได้พระราชทานนามกลองนี้ว่า วินิจฉัยเภรี

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีที่ทิมดาบกรมวัง แล้วทำกุญแจปิดลั่นไว้ เวลามีผู้ต้องการจะถวายฎีกา เจ้าหน้าที่กรมวังก็จะไปไขกุญแจให้  เมื่อผู้ถวายฎีกาตีกลองแล้ว  ตำรวจเวรก็ไปรับเอาตัวมา และนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ถ้ามีพระราชโองการสั่งให้ผู้ใดชำระ  พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จัดส่งฎีกาที่ราษฎรร้องทุกข์ ไปตามพระราชโองการทุกครั้งไป

          เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ผู้ที่เข้าตีกลองถวายฎีกาส่วนมากได้รับความยากลำบาก  เนื่องจากต้องเสียค่าไขกุญแจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกตีกลองเสีย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ป่าวประกาศว่า ต่อไปจะเสด็จออกรับฎีกา ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในวันขึ้น ๗ ค่ำ แรม ๗ ค่ำ และแรม ๑๓ ค่ำ ในเดือนขาด และแรม ๑๔ ค่ำในเดือนเต็ม  เมื่อเวลาจะเสด็จออก ให้ตีกลองวินิจฉัยเภรีเรียกผู้ที่จะถวายฎีกามาชุมนุมกันหน้าพระที่นั่ง  เมื่อราษฎรได้ทราบวันและเวลาเสด็จออกทั่วกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้กลองอีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสำหรับเก็บกลองใบนี้ไว้ที่ข้างป้อมสิงขรขัณฑ์ ริมประตูเทวาพิทักษ์  ต่อมา จึงได้ตั้งกลองวินิจฉัยเภรีจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และยังตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชมจนถึงปัจจุบัน.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แก้ปัญหาทั้งที่ไม่รู้

: รู้ปัญหาแต่ไม่แก้

: แย่พอ ๆ กัน

#บาลีวันละคำ (4,512)

19-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *