บาลีวันละคำ

นินทาปสังสา (บาลีวันละคำ 4,513)

นินทาปสังสา

ฝากไว้ในภาษาไทยอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า นิน-ทา-ปะ-สัง-สา

ประกอบด้วยคำว่า นินทา + ปสังสา

(๑) “นินทา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “นินฺทา” (มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า นินฺ-ทา รากศัพท์มาจาก นิทิ (ธาตุ = ติเตียน) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมกลางธาตุแล้วแปลงนิคหิต เป็น (นิทิ > นึทิ > นินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ (นิ)-ทิ (นิทิ > นิท) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: นิทิ > นึทิ > นินฺทิ > นินฺท + = นินฺท + อา = นินฺทา แปลตามศัพท์ว่า “การติเตียน” หมายถึง การนินทา, การตำหนิ, การหาความ, การติเตียน, ความผิด, ความเสียชื่อ (blame, reproach, fault-finding, fault, disgrace) 

เพื่อความเข้าใจกว้างขึ้น ควรรู้เพิ่มเติมว่า “นินฺทา” คำกริยา (ปัจจุบันกาล เอกพจน์ ปฐมบุรุษ หรือบุรุษที่หนึ่ง = สิ่งหรือผู้ที่ถูกพูดถึง) เป็น “นินฺทติ” (นิน-ทะ-ติ) แปลว่า นินทา, หาเรื่อง, ติเตียน, ตำหนิ (to blame, find fault with, censure)

บาลี “นินฺทา” สันสกฤตก็เป็น “นินฺทา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

นินฺทา: (คำนาม) ‘นินทา,’ ครหา, การหาเรื่อง; บีฑา, การเบียดเบียน; ความชั่ว; censure, reproach; injury, injuring; wickedness.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นินทา : (คำนาม) คําติเตียนลับหลัง. (คำกริยา) ติเตียนลับหลัง. (ป., ส. นินฺทา ว่า การติเตียน).”

(๒) “ปสังสา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปสํสา” อ่านว่า ปะ-สัง-สา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สํสฺ (ธาตุ = ชม, สรรเสริญ, ยกย่อง) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + สํสฺ = ปสํสฺ + = ปสํส + อา = ปสํสา แปลตามศัพท์ว่า “การสรรเสริญ” หมายถึง การสรรเสริญ, การสดุดี, การยกย่อง (praise, applause)

ปสํสา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปสังสา

คำว่า “ปสังสา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

นินฺทา + ปสํสา = นินฺทาปสํสา (นิน-ทา-ปะ-สัง-สา) แปลว่า “การนินทาและการสรรเสริญ” 

นินฺทาปสํสา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นินทาปสังสา” เป็นการเอาคำ 2 คำ มาพูดควบกัน 

ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครพูดหรือเขียนคำนี้ในภาษาไทย ขอเสนอไว้เพื่อให้ภาษาของเรามีถ้อยคำงอกงามเพิ่มขึ้น

ขยายความ :

นินทาปสังสา” ที่นักเรียนบาลีน่าจะจำได้ อยู่ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 4 ข้อความว่าดังนี้ –

…………..

เสโล ยถา เอกฆโน

วาเตน น สมีรติ

เอวํ นินฺทาปสํสาสุ

น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา ฯ

ขุนเขาไม่สะเทือน

เพราะแรงลมฉันใด 

บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหว

เพราะนินทาหรือสรรเสริญฉันนั้น 

Even as a solid rock 

Is not shaken by the wind. 

So do the wise remain unmoved 

By praise or blame.

ภาษาบาลี: ธรรมบท ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 16

ภาษาไทยและอังกฤษ: พุทธวจนะในธรรมบท โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

…………..

แถม :

นินทาปสังสา” ที่ควรศึกษาเรียนรู้ให้กว้างขึ้นท่านแสดงไว้ในโลกธรรมสูตร

ขออาศัยบาลีวันละคำเป็นเวทีประกาศธรรม โดยนำพระพุทธพจน์จากโลกธรรมสูตรเฉพาะที่เป็นบทคาถามาเสนอพร้อมทั้งคำแปลเป็นธรรมบรรณาการดังต่อไปนี้ –

…………..

ลาโภ อลาโภ จ ยสายโส จ 

นินฺทา ปสํสา จ สุขํ ทุกฺขญฺจ

เอเต อนิจฺจา มนุเชสุ ธมฺมา 

อสสฺสตา วิปริณามธมฺมา.

ลาภ 1 เสื่อมลาภ 1 ยศ 1 เสื่อมยศ 1 

นินทา 1 สรรเสริญ 1 สุข 1 ทุกข์ 1 

สัจธรรมอันไม่แน่นอนทั้ง 8 เหล่านี้มีอยู่ในหมู่มนุษย์

ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา 

เอเต จ ญตฺวา สติมา สุเมโธ

อเวกฺขติ วิปริณามธมฺเม 

อิฏฺฐสฺส ธมฺมา น มเถนฺติ จิตฺตํ 

อนิฏฺฐโต โน ปฏิฆาตเมติ.

ท่านผู้มีปัญญา มีสติ รู้เท่าทันสัจธรรมเหล่านี้ 

พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

สิ่งที่น่าปรารถนาเขย่าหัวใจของท่านไม่ได้ 

สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ท่านก็ไม่ขัดข้องขุ่นเคือง

ตสฺสานุโรธา อถ วา วิโรธา

วิธูปิตา อตฺถคตา น สนฺติ 

ปทญฺจ ญตฺวา วิรชํ อโสกํ 

สมฺมปฺปชานาติ ภวสฺส ปารคู. 

ความยินดีและความยินร้ายของท่าน 

ถูกขจัดขัดล้างเสียจนไม่มีเหลือ

ทั้งท่านยังรู้จักทางอันไม่ต้องมามัวสุขมัวเศร้า

เข้าใจความเป็นจริงอย่างถูกต้อง ข้ามฝั่งแห่งภพชาติได้สำเร็จ

ที่มา: โลกธรรมสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกาย 

พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 95 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้

: แต่หาร่มมากางไม่ให้เปียกได้

#บาลีวันละคำ (4,513)

20-10-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *