รัสพจน์ (บาลีวันละคำ 4,515)
รัสพจน์
ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยฯ
อ่านว่า รัด-สะ-พด
ประกอบด้วยคำว่า รัส + พจน์
(๑) “รัส”
บาลีเป็น “รสฺส” อ่านว่า รัด-สะ รากศัพท์มาจาก รสฺ (ธาตุ = ส่งเสียง; เสื่อม, สิ้น) + ส ปัจจัย
: รสฺ + ส = รสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันเขาร้องทัก” (คือถูกล้อเลียนค่อนแคะ) (2) “ถูกทำให้สิ้นไป” (คือทำให้หดสั้นลง)
“รสฺส” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –
(1) สั้น (short)
(2) = “รสฺสสรีร” มีตัวเตี้ย, แคระ (dwarfish, stunted)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัส-, รัสสะ : (คำวิเศษณ์) สั้น. (ป.).”
(๒) “พจน์”
บาลีเป็น “วจน” อ่านว่า วะ-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก วจ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด”
“วจน” ในบาลีหมายถึง –
(1) คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก (speaking, utterance, word, bidding)
(2) วิธีแสดงออกซึ่งคำพูด, พจน์, การแสดงออก (way of speech, term, expression)
บาลี “วจน” ภาษาไทยแผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยม จึงเป็น “พจน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “พจน-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า พด-จะ-นะ- และ “พจน์” (การันต์ที่ น) อ่านว่า พด บอกไว้ว่า –
“พจน-, พจน์ ๑ : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา. (ป. วจน).”
รสฺส + วจน = รสฺสวจน (รัด-สะ-วะ-จะ-นะ) > รัสพจน์ (รัด-สะ-พด) แปลตามศัพท์ว่า “คำสั้น” หมายถึง คำย่อ
คำว่า “รัสพจน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คลังความรู้ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่เมื่อ 13 กันยายน 2556 เรื่อง “รัสพจน์” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
รัสพจน์
คำว่า “รัสพจน์” เป็นศัพท์บัญญัติที่มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า acronym คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่าหมายถึง กลุ่มตัวอักษรที่เกิดจากการนำอักษรตัวแรกหรืออักษรตัวอื่นที่เหมาะสมของชื่อหรือวลีนั้นมาประกอบกัน โดยผลของการรวมเป็นรัสพจน์สามารถอ่านออกเสียงเป็นคำหรืออ่านแบบเรียงอักษรก็ได้ รัสพจน์ในศัพท์สาขาวิชาต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถาน มีตัวอย่างเช่น
CISH ในศัพท์พันธุศาสตร์ เป็นรัสพจน์ของ chromogenic in situ hybridization อ่านออกเสียงว่า คิช หมายถึง เทคนิคทางเซลล์พันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลที่ใช้ในการตรวจหาตำแหน่งของยีนหรือดีเอ็นเอบนโครโมโซม โดยใช้ตัวตรวจจับและการทำปฏิกิริยาทางวิทยาภูมิคุ้มกันของเอนไซม์เพอร์ออกซิเดส หรือแอลคาไลน์ฟอสฟาเทส ในการทำให้เกิดสัญญาณสี ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์
ASCII ในศัพท์คอมพิวเตอร์ เป็นรัสพจน์ของ American Standard Code for Information Interchange อ่านออกเสียงว่า แอสกี หมายถึง รหัสเลขฐานสองที่กำหนดให้ใช้แทนตัวอักษร ตัวเลข เครื่องหมายวรรคตอน และอักขระอื่น ๆ เพื่อให้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ รหัสนี้เดิมมีขนาด ๗ บิต ต่อมาเพิ่มเป็น ๘ บิต
SCSI ในศัพท์คอมพิวเตอร์ เป็นรัสพจน์ของ small computer system interface อ่านออกเสียงเป็นคำว่า สกัสซี หรืออ่านแบบเรียงอักษรว่า เอสซีเอสไอ ก็ได้ คำนี้หมายถึง ส่วนต่อประสานที่มีความเร็วสูง ซึ่งกำหนดตามมาตรฐานของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กและอุปกรณ์รอบนอก เช่น จานบันทึกแบบแข็ง หรือเครื่องพิมพ์.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความชั่ว ตัดให้สั้นลง
: ความดี ต่อให้ยาวขึ้น
#บาลีวันละคำ (4,515)
22-10-67
…………………………….
…………………………….