บาลีวันละคำ

บรมราชชนนี (บาลีวันละคำ 2,617)

บรมราชชนนี

อ่านว่า บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-ชน-นะ-นี

แยกคำเป็น บรม + ราช + ชนนี

(๑) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ปัจจัย = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ญฺ, ยืดเสียง อะ ที่ – เป็น อา

: รญฺชฺ > รช + = รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า ผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

(๓) “ชนนี

บาลีอ่านว่า ชะ-นะ-นี รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชนฺ + ยุ > อน = ชนน + อี = ชนนี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้เกิด” หมายถึง มารดา หรือแม่ (mother)

ประสมคำ ประสานความ :

ในคำว่า “บรมราชชนนี” นี้ –

ราช + ชนนี = ราชชนนี หมายถึง ชนนีของพระราชา (queen mother) เป็นการประสมคำที่ชอบด้วยเหตุผล เพราะในที่นี้เล็งถึง “ชนนีหรือแม่ของพระราชา” = ราชชนนี

แต่คำที่ชวนคิดคือ “บรม” ขยายคำไหน เพราะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถขยายได้ทั้งสองคำ คือทั้ง “ราช” และ “ชนนี

แบบที่หนึ่ง:

ตอนที่ 1: บรม + ราช = บรมราช แปลว่า “พระราชาผู้ยอดเยี่ยม

ตอนที่ 2: บรมราช + ชนนี = บรมราชชนนี แปลว่า “ชนนีของพระราชาผู้ยอดเยี่ยม

แบบนี้ “ผู้ยอดเยี่ยม” คือพระราชา ไม่ใช่ชนนี

แบบที่สอง:

ตอนที่ 1: ราช + ชนนี = ราชชนนี แปลว่า “ชนนีของพระราชา

ตอนที่ 2: บรม + ราชชนนี = บรมราชชนนี แปลว่า “ชนนีของพระราชาผู้ยอดเยี่ยม

แบบนี้ “ผู้ยอดเยี่ยม” คือชนนี ไม่ใช่พระราชา

จริงอยู่ แม้คำแปลในตอนที่ 2 ทั้งแบบที่หนึ่งและแบบที่สองจะแปลตรงกันทุกคำ (“ชนนีของพระราชาผู้ยอดเยี่ยม”) แต่ขั้นตอนการประกอบคำบาลีไม่เหมือนกัน

แบบที่หนึ่ง “บรม” ขยาย “ราช” เป็นการชี้ชัดว่า ผู้ยอดเยี่ยมคือพระราชา

แต่แบบที่สอง “บรม” ขยาย “(ราช) ชนนี” เป็นการชี้ชัดว่า ผู้ยอดเยี่ยมคือชนนี

เพียงแต่ว่า “ชนนี” นั้นมีคำขยายของตัวเองอยู่ก่อนแล้วชั้นหนึ่งคือ “ราช” บอกให้รู้ว่าชนนีผู้นี้เป็น “ชนนีของพระราชา” แต่ “ราช” ไม่มีคำขยาย เพราะเอา “บรม” ไปขยาย “ชนนี” ก่อนแล้ว

ถามว่า เพื่อให้ชัดเจนหมดปัญหา ประสมคำเป็น –

(1) บรม + ชนนี = บรมชนนี แปลว่า “ชนนีผู้ยอดเยี่ยม

(2) ราช + บรมชนนี = ราชบรมชนนี แปลว่า “ชนนีผู้ยอดเยี่ยมของพระราชา

แบบนี้จะใช้ได้หรือไม่?

ตอบว่า ใช้ไม่ได้ เพราะศัพท์เดิมของท่านคือ “บรมราชชนนี” ไม่ใช่ “ราชบรมชนนี

อีกประการหนึ่ง “ราชชนนี” เป็นคำแสดงสถานะอันเป็นข้อเท็จจริง คือ ชนนีพระองค์นี้เป็น “ชนนีของพระราชา” ดังนั้น “ราชชนนี” จึงเป็นศัพท์ที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่สุดแล้ว ไม่อาจเปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่น (เช่น “บรมชนนี”) ได้

ปัญหาจึงคงมีแต่เพียงว่า จะแปลให้ “บรม” ขยายคำไหน ขยาย “ราช” หรือขยาย “ชนนี” ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งสองแบบ

นี้นับว่าเป็นแยบยลอย่างหนึ่งของผู้คิดศัพท์นี้ขึ้นมา

อภิปราย :

มีญาติมิตรถามมาว่า คำบาลีที่จะถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม จะใช้ว่าอย่างไร

เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เราใช้กันว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี

เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” มีคำแนะนำให้ใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี” (อ้างว่าได้คำนี้มาจากการสอบถามพระเถระรูปหนึ่ง)

บัดนี้ ทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” (ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ 2562) ยังไม่มีหรือยังไม่ได้เห็นคำแนะนำจากใครหรือหน่วยงานไหนให้ใช้คำบาลีถวายพระพรว่าอย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นป้ายของเทศบาลเมืองราชบุรีทำเป็นธงเล็กติดตามเสาไฟและราวสะพาน ใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี

แต่ต่อมาเห็นป้ายใหญ่ของเทศบาลเมืองราชบุรีเช่นกันติดตามทางแยก ใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี” (ดูภาพประกอบ)

จึงไม่ทราบว่าจะใช้อย่างกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ การใช้คำของหน่วยงานแห่งนี้ถือเป็นมาตรฐานไม่ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำเสนอแนะท่านผู้ถามไปว่า ควรใช้ “ทีฆายุกา โหตุ ปรมราชชนนี”

อ่านว่า ที-คา-ยุ-กา โห-ตุ ปะ-ระ-มะ-รา-ชะ-ชะ-นะ-นี

เฉพาะคำว่า “ชนนี” ภาษาไทยอ่านว่า ชน-นะ-นี แต่ภาษาบาลีอ่านว่า ชะ-นะ-นี

คำว่า “ปรมราชชนนี” เป็นคำที่คิดเทียบคำว่า “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ตัดเอาเฉพาะคำหลักคือ “บรมราชชนนี” อันเป็นพระอิสริยยศในปัจจุบัน

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ประสงค์จะขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้น ใครหรือหน่วยงานไหนจะใช้คำอะไรหรือแนะนำให้ใครใช้คำอะไร ก็เชิญตามสบาย ไม่จำเป็นต้องใช้ตามกัน

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า หากจะมีการใช้ถ้อยคำภาษาบาลีเพื่อการใดๆ อย่างเป็นทางการ หน่วยงานที่ควรเป็นผู้เสนอความเห็น คือ คณะสงฆ์-โดยกองบาลีสนามหลวง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับงานด้านภาษาบาลีของคณะสงฆ์

หน่วยงานนี้ควรทำงานในเชิงรุกบ้าง ไม่ควรนั่งรอให้มีคำถามเข้ามาเสียก่อนจึงจะคิดคำตอบ แต่ควรคิดตั้งคำถามขึ้นเองด้วยว่าน่าจะทำอะไรกันบ้าง

แต่ปีนี้คงไม่ทันการและไม่ทันกาลแล้ว เพราะพรุ่งนี้ก็จะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีกจนกว่าจะถึงปีหน้า นั่นหมายถึงคณะสงฆ์-โดยกองบาลีสนามหลวงมีเวลาคิดงานชิ้นนี้อีกหนึ่งปีเต็มๆ

แต่เวลาหนึ่งปีเต็มๆ นี้ไม่ควรจะมีงานนี้เพียงชิ้นเดียว แต่น่าจะมีงานอื่นอีกเป็นสิบ เป็นร้อย หรือแม้แต่เป็นหลายร้อยชิ้น อันจะเอื้ออำนวยประโยชน์ด้านวิชาการภาษาบาลีแก่สังคมไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเสียใจถ้ามีใครบอกว่าเรามีแม่ไม่ดี

: แต่จงระวังอย่าให้แม่เสียใจว่ามีลูกไม่ดี

#บาลีวันละคำ (2,617)

12-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย