บาลีวันละคำ

กิตติศัพท์ (บาลีวันละคำ 4,514)

กิตติศัพท์

จากวันนี้ถึงวันที่ชีวีของเราดับ 

แน่ใจหรือว่าจะมีคนเอากิตติศัพท์ไปกล่าวขาน

อ่านว่า กิด-ติ-สับ

ประกอบด้วยคำว่า กิตติ + ศัพท์

(๑) “กิตติ” 

บาลีเป็น “กิตฺติ” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวแรก) อ่านว่า กิด-ติ รากศัพท์มาจาก กิตฺตฺ (ธาตุ = กล่าวถึง, พูดด้วยดี) + อิ ปัจจัย

: กิตฺต + อิ = กิตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, ความรุ่งโรจน์, เกียรติยศ (fame, renown, glory, honour)

กิตฺติ” สันสกฤตเป็น “กีรฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กีรฺตฺติ” และ “กีรฺติ” บอกไว้ดังนี้ :

(สะกดตามต้นฉบับ)

กีรฺตฺติ, กีรฺติ : (คำนาม) เกียรติ, ความบันลือ, ศรี (ยศสฺหรือสง่า), อนุเคราะห์, อนุกูลย์; ธันยวาท; ศัพท์, เสียง; อาภา, โศภา; โคลน, สิ่งโสโครก; ความซ่านทั่ว; มูรติทิพยศักดิ์ของพระกฤษณ; fame, renown, glory; favour; approbation; sound; light, lustre; mud, dirt; diffusion, expansion; one of the Mātrikās or personified divine energies of Krishṇa.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กิตติ : (คำนาม) คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ. (ป.).”

(๒) “ศัพท์

บาลีเป็น “สทฺท” อ่านว่า สัด-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สปฺปฺ (ธาตุ = สวด, พูด; รู้) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปฺป เป็น ทฺท (สปฺปฺ > สทฺท)

: สปฺปฺ + = สปฺป > สทฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดออกมา” (2) “สิ่งเป็นเหตุให้รู้เนื้อความ

(2) สปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ปฺ ที่ (ส)-ปฺ เป็น ทฺ (สปฺ > สทฺ), ซ้อน ทฺ

: สป > สทฺ + ทฺ + = สทฺท แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นไปได้” (คือทำให้เกิดความสะดวกในการดำเนินชีวิต)

(3) สทฺทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + (อะ) ปัจจัย

: สทฺทฺ + = สทฺท แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาส่งออกไป

สทฺท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เสียง, สำเนียง (sound, noise)

(2) เสียงคน (voice)

(3) คำ (word)

บาลี “สทฺท” สันสกฤตเป็น “ศพฺท

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศพฺท : (คำนาม) ‘ศัพท์,’ เสียงทั่วไป; คำ; (คำใช้ในไวยากรณ์) ศัพท์นี้ขึ้นอยู่กับวิภัตติ์หรือเปลี่ยนรูปไปตามวิภัตติ์, ดุจนาม, สรรพนาม ฯลฯ; sound in general; a word; (In grammar) a declinable word, as noun, pronoun &c.”

บาลี “สทฺท” ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศัพท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศัพท-, ศัพท์ : (คำนาม) เสียง เช่น โทรศัพท์, คำ เช่น ศัพท์บัญญัติ; คำยากที่ต้องแปล, ศัพท์แสง ก็ว่า; เรื่อง เช่น ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด. (ส. ศพฺท; ป. สทฺท ว่า เสียง, คํา).”

กิตฺติ + สทฺท = กิตฺติสทฺท (กิด-ติ-สัด-ทะ) แปลว่า “เสียงเล่าลือ” “เสียงสรรเสริญ หมายถึง กิตติศัพท์, ความสรรเสริญ, ชื่อเสียง (the sound of fame, praise, renown)

บาลี “กิตฺติสทฺท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กิตติศัพท์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กิตติศัพท์ : (คำนาม) เสียงเล่าลือ, เสียงสรรเสริญ, เสียงยกย่อง. (ป. กิตฺติ ว่า สรรเสริญ, ยกย่อง + ส. ศพฺท ว่า เสียง).”

ขยายความ :

กิตฺติสทฺท” ในบาลีที่เราน่าจะคุ้นหูคุ้นปาก น่าจะเป็นข้อความตอนหนึ่งในบททำวัตรเย็น ดังนี้ – 

…………..

ตัง โข  ปะนะ  ภะคะวันตัง  

เอวัง  กัลยาโณ  กิตติสัทโท  อัพภุคคะโต

ก็กิตติศัพท์อันงามของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

ได้ฟุ้งไปแล้วอย่างนี้ว่า –

อิติปิ  โส  ภะคะวา

เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น –

อะระหัง

เป็นผู้ไกลจากกิเลส

สัมมาสัมพุทโธ

เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง 

วิชชาจะระณะสัมปันโน

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ 

สุคะโต

เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี

โลกะวิทู

เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

อะนุตตะโร  ปุริสะทัมมะสาระถิ

เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

สัตถา  เทวะมะนุสสานัง

เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทโธ

เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม 

ภะคะวาติ.

เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “อยู่จนตายด้วยความแก่เฒ่าเอาป่านนี้

ทำไมไม่มีใครยกคุณความดีของเอ็งขึ้นมาประกาศ?”

: ถ้ายมบาลร้องตวาด ท่านจะตอบว่าอย่างไร?

#บาลีวันละคำ (4,514)

21-10-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *