บทความเรื่อง ขยะสังคม
ขยะสังคม (๖)
———-
เรื่องนี้เคยโพสต์เป็นเรื่องยาวตอนเดียวจบมาแล้ว
………………………..
เมื่อ ๒ วันก่อน (๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๒) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านได้รับกระทบเรื่องบางเรื่องตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้-คือเรื่องนี้
ผมย้อนกลับไปอ่านดู ก็เลยเกิดความคิดเอามาโพสต์ให้อ่านกันอีกที แต่จะขอแบ่งเป็นตอนๆ สั้นๆ เพื่อสะดวกแก่การอ่าน
——————————————————–
ขอทำความเข้าใจถึงคำว่า “ผู้กล่าวข่ม” อีกเล็กน้อย
คำว่า “ข่ม” นั้น มิใช่หมายถึงการดูถูก การพูดกดให้เลว หรือการข่มเหงรังแก การข่มขู่เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ หรือการกดไว้ใต้อำนาจเพื่อสำแดงความยิ่งใหญ่ของผู้ข่ม ตลอดจนคิดทำลายให้ย่อยยับ
ไม่ใช่ข่มแบบนั้น
แต่หมายถึง-เมื่อเห็นใครกระทำการอันใดที่จะก่อให้เกิดโทษเกิดความเสียหาย หรือกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ก็ทักท้วง ยับยั้งรั้งเหนี่ยวไว้ ปรามไว้ หรือควบคุมไว้มิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมกันนั้นก็หาทางทำให้รู้สึกสำนึกผิด กลับตัวกลับใจมาดำเนินในทางที่ถูกที่ควร
พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์หรือผู้ทำหน้าที่ปกครองอบรมสั่งสอน เห็นศิษย์หรือผู้อยู่ในปกครองทำผิดก็ไม่กล้า “ข่ม” ทั้งนี้เพราะตนได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากศิษย์ผู้นั้นอยู่เสมอ
ท่านยกตัวอย่างการอุปถัมภ์ในสมัยโบราณ เช่น“ให้น้ำบ้วนปากเป็นต้นแก่เรา”
ของจริงสมัยนี้ –
อาจอุปถัมภ์กันด้วยการช่วยออกทุนสร้างโบสถ์วิหารเป็นสิบล้านร้อยล้าน
ส่งเสบียงส่งส่วยให้เป็นประจำ
นิมนต์แต่ละทีถวายหนักๆ
ฯลฯ
ถ้าไป “ข่ม” ศิษย์หรือผู้อยู่ในปกครองประเภทนี้เข้า ตัวก็จะเสียผลประโยชน์
ความคิดของอาจารย์ผู้ปกครองสมัยโน้นกับสมัยนี้ไม่ค่อยต่างกันเท่าไรเลย
ท่านว่าอาจารย์หรือผู้ปกครองชนิดนี้ไม่ใช่ “นิคฺคยฺหวาที” – ผู้กล่าวข่ม ตามพระพุทธภาษิตนั้น
หากแต่เป็น “ผู้เรี่ยรายหยากเยื่อลงในศาสนานี้”
คำเปรียบนี้ต้องรู้ระบบในพระศาสนาจึงจะมองเห็นภาพ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
๑๗:๒๗