บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๕)

————————————–

ข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเกิดเหตุและมีคนเจ็บป่วยนั้น มักจะมีบุคคลที่อยู่ในห้วงคิดคำนึงของคนทั่วไปอยู่ ๓ จำพวก คือ ตำรวจ หมอ และญาติ

ในกรณีเจ็บป่วยนั้น หมอควรจะเป็นพวกแรกที่จำเป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงมักจะเป็นว่า ญาติจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่คนมักจะคิดถึงก่อน ควบคู่ไปกับหมอหรือตำรวจ

ทำไมจึงเป็นอย่างนี้?

คำตอบก็น่าจะอยู่ในแนวคิดทฤษฎีที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั่นเอง โดยมีความรู้สึกที่ไม่อยากจะเข้าไปร่วมเดือดร้อนหนุนหลังอยู่ลึกๆ

พูดมาถึงตรงนี้แล้วก็ยังไม่มีคำตอบอยู่นั่นเองว่า ใครจะรับผิดชอบ แต่มีคำถามให้ต้องคิดเพิ่มขึ้นมาอีก นั่นก็คือ –

ถ้าสมมุติว่า ท่านพบเหตุมีคนป่วยเฉพาะหน้า แล้วท่านก็นำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล ตามสามัญสำนึกของมนุษย์ที่ว่าคนเราควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเท่าที่สามารถจะทำได้ ถ้าคนป่วยไปถึงหมอโดยปลอดภัย ญาติพี่น้องของคนป่วยก็คงจะขอบคุณท่านเป็นการใหญ่ที่ช่วยชีวิตญาติของเขาไว้

แต่ถ้าเกิดคนป่วยนั้นเสียชีวิตในระหว่างทาง ท่านลองคาดเดาดูซิว่า คนที่นำคนป่วยไปโรงพยาบาลด้วยความปรารถนาดีเพราะมีมนุษยธรรมนั้นจะเจออะไรบ้าง ญาติพี่น้องของคนป่วยจะว่าอย่างไร

อย่างหนึ่งที่เขาจะต้องว่า หรือไม่ว่าก็คงจะต้องคิดแน่ๆ ก็คือ นี่ถ้าไอ้มนุษย์คนนี้ (คือตัวท่าน) ไม่สู่รู้เคลื่อนย้ายคนป่วยให้กระทบกระเทือน แต่ให้นอนพักอยู่ตรงนั้น ป่านนี้ญาติของกู (คือ พ่อกู แม่กู ผัวกู เมียกู ลูกกู หลานกู ฯลฯ) ก็คงจะยังไม่ตาย นี่เพราะไอ้คนเสือกไม่เข้าเรื่องคนเดียวแท้ๆ ที่ทำให้ญาติกูต้องตาย

ต่อจากนั้น ถ้ามีทางอะไรที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากท่านได้ เขาก็คงไม่ละเว้นที่จะทำ โทษฐานเป็นเหตุให้ญาติของเขาตาย

ถ้าท่านเป็นมนุษย์คนนั้น ท่านจะรู้สึกอย่างไร?

ทีนี้สมมุติใหม่ สมมุติว่า ท่านพบเหตุมีคนป่วยเฉพาะหน้าเช่นเดียวกัน คราวนี้ท่านตัดสินใจไม่นำคนป่วยส่งโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าจะโดนกล่าวหาว่าเสือกไม่เข้าเรื่อง กรณีนี้ถ้ามีรถพยาบาลมาถึงทันเวลา พาคนป่วยไปรักษาเรียบร้อย ญาติคนป่วยอาจจะขอบคุณท่านที่ช่วยเฝ้าดูแลคนป่วยอยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าในระหว่างที่ท่านดูอยู่เฉยๆ นั้น คนป่วยเกิดเสียชีวิตอยู่ตรงนั้นเอง ท่านลองคาดเดาดูซิว่า คราวนี้ญาติพี่น้องของคนป่วยจะว่าอย่างไร

อย่างหนึ่งที่เขาจะต้องว่า หรือไม่ว่าก็คงจะต้องคิดแน่ๆ ก็คือ นี่ถ้าไอ้มนุษย์คนนี้ (คือตัวท่าน) มันไม่แล้งน้ำใจ ช่วยพาญาติของกู (คือ พ่อกู แม่กู ผัวกู เมียกู ลูกกู หลานกู ฯลฯ) ไปส่งโรงพยาบาลให้สักนิด ป่านนี้ญาติของกูก็คงจะยังไม่ตาย นี่เพราะไอ้คนแล้งน้ำใจคนเดียวแท้ๆ ที่ทำให้ญาติกูต้องตาย

หลังจากวันนั้นเขาก็จะตำหนิติเตียนโพนทะนาความแล้งน้ำใจของท่านให้โลกได้รับรู้ต่อไปอีกสามปีเจ็ดปี หรืออาจจะตลอดชีวิต และถ้าบังเอิญเขาไปเจอท่านเข้าที่ไหน เขาก็จะสะบัดหน้า ถ่มน้ำลาย มองท่านอย่างไส้เดือนกิ้งกือตัวหนึ่ง

ถ้าท่านเป็นมนุษย์คนนั้น โดนเข้าอย่างนี้ท่านจะรู้สึกอย่างไร?

เป็นอันว่า ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล หรือตัดสินใจปล่อยไว้ตรงนั้น ท่านย่อมมีโอกาสที่จะตกเป็นผู้ต้องหาในสายตาของคนเป็นญาติผู้ป่วยได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ตราบใดที่ท่านยังอยู่ในสังคมนี้ อย่านึกเป็นอันขาดว่าท่านจะไม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้

แล้วจะทำอย่างไรกันดี?

นี่คือปัญหาทางจริยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคม และผมเชื่อว่าเป็นปัญหาที่ทุกคนอยากได้คำตอบจากสังคมด้วย

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๐:๕๖

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *