เสโท (บาลีวันละคำ 2,045)
เสโท = เหงื่อ
ลำดับ 24 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า เส-โท
“เสโท” รูปคำเดิมเป็น “เสท” (เส-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สิทฺ (ธาตุ = ปล่อย, พ้น; ชุ่มชื่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(ทฺ) เป็น เอ (สิทฺ > เสท)
: สิทฺ + ณ = สิทณ > สิท > เสท แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่ไหลออก” (2) “น้ำที่เปียกชุ่มอยู่”
(2) เส (ธาตุ = สุก, ต้ม, หุง) + ต แผลง ต เป็น ท
: เส + ต = เสต > เสท แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สุก”
“เสท” หมายถึง เหงื่อ (sweat, perspiration)
“เสท” (ปุงลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เสโท”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เสทะ, เสโท : (คำนาม) เหงื่อ, เหงื่อไคล. (ป.; ส. เสฺวท).”
พจนานุกรมฯ บอกว่าบาลี “เสท” สันสกฤตเป็น “เสฺวท”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เสฺวท” บอกไว้ดังนี้ –
(1) เสฺวท (คุณศัพท์) อันอุ่น, ร้อน, หรือเหงื่อไหล; warm, hot, or perspiring.
(2) เสฺวท : (คำนาม) ความอบอุ่น, ความร้อน, เหงื่อ; warmth, heat; sweat.
และมีคำว่า “เสฺวทน” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เสฺวทน : (คำนาม) เหงื่อ; การทำให้เหงื่อไหล; เสวทชนก, ยาอันทำให้เกิดมีเหงื่อมาก; sweat, perspiration; sweating; a diaphoretic, a sudorific or medicine that increases perspiration.”
…………..
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “เสโท” ไว้ดังนี้ –
เสโทติ โลมกูปาทีหิ ปคฺฆรณกอาโปธาตุ.
คำว่า “เสโท” ได้แก่อาโปธาตุที่ไหลออกตามช่องในร่างกายมีช่องขุมขนเป็นต้น
โส วณฺณโต วิปฺปสนฺนติลเตลวณฺโณ.
เสโทนั้นมีสีดังสีน้ำมันงาใส
สณฺฐานโต โอกาสสณฺฐาโน.
เสโทมีรูปทรงสัณฐานตามรูปทรงอวัยวะที่มันเข้าไปอยู่
โอกาสโต เสทสฺโสกาโส นาม นิพทฺโธ นตฺถิ ยตฺถ โส โลหิตํ วิย สทา ติฏฺเฐยฺย
แหล่งที่เสโทจะไปขังรวมอยู่ประจำที่ตลอดเวลาเหมือนโลหิตนั้นหามีไม่
ยทา ปน อคฺคิสนฺตาปสูริยสนฺตาปอุตุวิการาทีหิ สรีรํ สนฺตปฺปติ ตทา อุทกโต อพฺพุฬฺหมตฺตวิสมจฺฉินฺนภิสมุฬาลกุมุทนาฬกลาโป วิย สพฺพเกสโลมกูปวิวเรหิ ปคฺฆรติ
ต่อเมื่อใดร่างกายร้อนขึ้นด้วยเหตุต่างๆ เช่นร้อนไฟ ร้อนแดด และความผันแปรแห่งฤดูเป็นต้น เมื่อนั้นมันจึงไหลออกตามช่องขุมผมและขนทั้งปวง อาการที่เสโทแตกออกมานั้นท่านให้นึกเทียบกับเวลารวบกำสายบัวแล้วถอนขึ้นจากน้ำ ทั้งรากทั้งเหง้าจะขาดแหว่งๆ วิ่นๆ (ไม่ขาดเรียบเหมือนเอามีดปาด) น้ำก็จะหยดออกจากตรงนั้นบ้าง ตรงโน่นบ้าง (เหงื่อออกก็จะมีสภาพคล้ายกันอย่างนั้น)
ตสฺมา ตสฺส สณฺฐานมฺปิ เกสโลมกูปวิวรานญฺเญว วเสน เวทิตพฺพํ.
เพราะฉะนั้น จะเข้าใจว่ารูปทรงสัณฐานของเสโทก็เป็นไปตามรูปทรงของช่องขุมผมและขนนั่นเอง อย่างนี้ก็ได้
เสทปริคฺคณฺหเกน จ โยคินา เกสโลมกูปวิวเร ปูเรตฺวา ฐิตวเสเนว เสโท มนสิกาตพฺโพ.
โยคีผู้เจริญพระกรรมฐานเมื่อจะกำหนดเอาเสโทเป็นอารมณ์เล่า ก็พึงมนสิการเสโทตามที่มันขังอยู่ในช่องขุมผมและขนนั่นแล
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 46)
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “เสโท” ไว้ดังนี้ –
๏ เสโทคือเหงื่อ….ซับซาบอาบเนื้อ….ออกทุกขุมขน
ไหลมาเมื่อร้อน…..บ่ห่อนเว้นคน……..ของเสียเปื้อนปน
ซึมซับออกมา๚ะ๛
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เหงื่อที่อาบต่างน้ำ เพื่อทำมหากุศล
: ศักดิ์สิทธิ์กว่าน้ำมนต์ ที่นั่งเสกนั่งท่องในห้องแอร์
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,045)
17-1-61