บาลีวันละคำ

อิฏฐารมณ์ – อนิฏฐารมณ์ (บาลีวันละคำ 3,201)

อิฏฐารมณ์อนิฏฐารมณ์

ชอบก็ฟู ชังก็ฟุบ

อิฏฐารมณ์” อ่านว่า อิด-ถา-รม

อนิฏฐารมณ์” อ่านว่า อะ-นิด-ถา-รม

คำที่เป็นหลัก คือ อิฏฐ + อารมณ์

(๑) “อิฏฐ

เขียนแบบบาลีเป็น “อิฏฺฐ” (มีจุดใต้ ฏฺ) อ่านว่า อิด-ถะ รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา; แสวงหา) + ปัจจัย, แปลง สฺต (คือ สฺ ที่ อิสฺ ธาตุ กับ ปัจจัย) เป็น ฏฺฐ (มีจุดใต้ ฏฺ)

: อิสฺ + = อิสฺต > อิฏฺฐ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “-ที่พึงปรารถนา” (2) “-ที่พึงแสวงหา

อิฏฺฐ” เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ, ดีใจ (pleasing, welcome, agreeable, pleasant)

อิฏฺฐ” เป็นนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สวัสดิการ, ความดี, ความพึงพอใจ, ความสุข (welfare, good state, pleasure, happiness)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิฏฐ-, อิฐ– ๑ : (คำวิเศษณ์) น่าปรารถนา, เป็นที่พอใจ, ต้องใจ, น่ารัก. (ป.; ส. อิษฺฏ).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ เก็บไว้ทั้ง “อิฏฐ-” (ไม่ตัดตัวสะกด) และ “อิฐ-” (ตัดตัวสะกด) ขีด – ท้าย หมายถึงไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “อิฐผล” (อิด-ถะ-ผน) พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อิฐผล : (คำนาม) ผลเป็นที่พอใจ. (ป. อิฏฺฐผล).”

และโปรดสังเกตต่อไปด้วยว่า พจนานุกรมฯ เก็บไว้เฉพาะ “อิฐผล” (ตัดตัวสะกด) แต่ไม่ได้เก็บ “อิฏฐผล” (ไม่ตัดตัวสะกด) คำที่ขึ้นต้นด้วย “อิฏฐ-” (ไม่ตัดตัวสะกด) แล้วมีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายนั้น มีแต่ “อิฏฐารมณ์” คำเดียว

(๒) “อารมณ์

บาลีเป็น “อารมฺมณ” (อา-รำ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน มฺ, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง (ที่ อน) เป็น

: อา + รมฺ = อารมฺ + = อารมฺม + ยุ > อน = อารมฺมน > อารมฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่มายินดี (แห่งจิตและเจตสิก)”

คำว่า “มายินดี” เป็นภาษาธรรม หมายถึงสิ่งที่จิตเข้าไปจับหรือรับรู้ คือเมื่อจิตจับอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นที่ “มายินดี” ของจิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่น่ายินดี (ชอบ) ไม่น่ายินดี (ชัง) หรือเป็นกลางๆ (เฉย) ก็ตาม

อารมฺมณ” หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ คือที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่กระทบกาย และเรื่องที่จิตคิดนึก (a basis for the working of the mind & intellect)

อารมฺมณ” ในภาษาไทยใช้ว่า “อารมณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อารมณ์ : (คำนาม) สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู, เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย; ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย; อัธยาศัย, ปรกตินิสัย, เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน; ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์, ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์. (คำวิเศษณ์) มีอัธยาศัย, มีปรกตินิสัย, เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน. (ป. อารมฺมณ).”

อิฏฺฐ + อารมฺมณ = อิฏฺฐารมฺมณ (อิด-ถา-รำ-มะ-นะ) แปลว่า “อารมณ์ที่น่าพอใจ

อิฏฺฐารมฺมณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อิฏฐารมณ์” (อิด-ถา-รม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิฏฐารมณ์ : (คำนาม) อารมณ์หรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข, ตรงข้ามกับ อนิฏฐารมณ์. (ป. อิฏฺฐารมฺมณ).”

ส่วน “อนิฏฐารมณ์” (อะ-นิด-ถา-รม) รากศัพท์ก็เช่นเดียวกับ “อิฏฺฐารมฺมณ” หรือ “อิฏฐารมณ์” ต่างกันที่มี “น” (นะ) นิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ + อิฏฺฐ- แปลง น เป็น “อน” (อะ-นะ)

: > อน + อิฏฺฐ = อนิฏฺฐ + อารมฺมณ = อนิฏฺฐารมฺมณ แปลว่า “อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนิฏฐารมณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนิฏฐารมณ์ : (คำนาม) อารมณ์หรือสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าพอใจ ได้แก่ ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์, ตรงข้ามกับ อิฏฐารมณ์. (ป. อนิฏฺฐารมฺมณ).”

ข้อสังเกต :

อนิฏฐารมณ์” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านไว้ด้วยว่า อะ-นิด-ถา-รม

แต่ “อิฏฐารมณ์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้ แต่ก็ได้บอกไว้ที่คำว่า “อิฏฐ-” ว่า อ่านว่า อิด-ถะ-

พจนานุกรมฯ อาจมีเหตุผลว่า “อิฏฐารมณ์” เป็นลูกคำของ “อิฏฐ-” เมื่อบอกคำอ่านไว้ที่แม่คำแล้วก็จึงไม่จำเป็นต้องบอกไว้ที่ลูกคำอีก นั่นคือ ถ้าอ่านแม่คำได้ถูก ก็ต้องอ่านลูกคำได้ถูกเช่นกัน

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ “อิฏฐารมณ์” มีแม่คำว่า “อิฏฐ-” แต่ “อนิฏฐารมณ์” ไม่มีแม่คำว่า “อนิฏฐ-”

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คำว่า “อนิฏฐ-” ไม่มีในพจนานุกรมฯ แต่มี “อนิฏฐารมณ์

นี่เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะ “จับผิด” พจนานุกรมฯ แต่ประการใด

ขยายความ :

อิฏฐารมณ์” และ “อนิฏฐารมณ์” โดยความหมายทางธรรมท่านเรียกว่า “โลกธรรม” (โลก-กะ-ทำ) แปลว่า “ธรรมประจำโลก” คือเรื่องธรรมดาของชาวโลก

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [296] แสดงเรื่อง “โลกธรรม” ไว้ดังนี้ –

…………..

โลกธรรม 8 (ธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ความเป็นไปตามคติธรรมดาซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลกและสัตวโลกก็หมุนเวียนตามมันไป — Loka-dhamma: wordly conditions; wordly vicissitudes)

1. ลาภ (ได้ลาภ, มีลาภ — Lābha: gain)

2. อลาภ (เสื่อมลาภ, สูญเสีย — Alābha: loss)

3. ยส (ได้ยศ, มียศ — Yasa: fame; rank; dignity)

4. อยส (เสื่อมยศ — Ayasa: obscurity)

5. นินทา (ติเตียน — Nindā: blame)

6. ปสังสา (สรรเสริญ — Pasaṃsā: praise)

7. สุข (ความสุข — Sukha: happiness)

8. ทุกข์ (ความทุกข์ — Dukkha: pain)

โดยสรุปเป็น 2 คือ ข้อ 1, 3, 6, 7 เป็น อิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่น่าปรารถนา; ข้อที่เหลือเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่ไม่น่าปรารถนา

โลกธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นทั้งแก่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ และแก่อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ต่างกันแต่ว่า คนพวกแรกย่อมไม่รู้เห็นเข้าใจตามความเป็นจริง ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ปล่อยให้โลกธรรมเข้าครอบงำย่ำยีจิต ฟูยุบเรื่อยไป ไม่พ้นจากทุกข์ มีโสกะปริเทวะ เป็นต้น ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้พิจารณาเห็นตามเป็นจริง ว่าสิ่งเหล่านี้อย่างใดก็ตามที่เกิดขึ้นแก่ตน ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่หลงใหลมัวเมาเคลิ้มไปตามอิฏฐารมณ์ ไม่ขุ่นมัวหม่นหมองคลุ้มคลั่งไปในเพราะอนิฏฐารมณ์ มีสติดำรงอยู่ เป็นผู้ปราศจากทุกข์ มีโสกะปริเทวะ เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

อิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ –

ห้ามไม่ให้มากระทบ: ทำไม่ได้สักคน

กระทบแล้วไม่กระเทือน: คนทำได้นับไม่ถ้วน

#บาลีวันละคำ (3,201)

18-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย