บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๗)

————————————–

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวอยู่อย่างหนึ่งจากประสบการณ์ชีวิต คือ เวลาเราเป็นผู้ถูกกระทำหรือถูกพูดจาว่ากล่าวอะไรก็ตามในเรื่องที่เราไม่พอใจ หรือที่ภาษาพระท่านเรียกว่า “อนิฏฐารมณ์” เรามักจะรู้สึกว่า คนที่ทำกับเราหรือพูดกับเราไม่น่าทำอย่างนั้น หรือไม่น่าพูดอย่างนั้นกับเราเลย

แต่ในฉับพลันทันทีที่เราเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกระทำไปเป็นผู้กระทำบ้าง เราก็จะลืมความรู้สึกเมื่อตอนเป็นผู้ถูกกระทำจนหมดสิ้น คือเราก็จะทำจะพูดแบบเดียวกับที่เราไม่อยากให้ใครมาทำมาพูดกับเราเช่นนั้นนั่นเอง

นี่เป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่งที่คนเราสามารถจะลืมอะไรได้รวดเร็วฉับพลันถึงปานนี้

เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายตั้งสติให้ดี เวลาอยู่ในฐานะที่จะเป็นพลเมืองดี ก็อย่าลืมความรู้สึกหรือหัวอกของคนที่เป็นญาติผู้ป่วย และเวลาที่อยู่ในฐานะญาติผู้ป่วย ก็โปรดอย่าลืมนึกถึงหัวอกของผู้เป็นพลเมืองดีเอาไว้บ้าง

………………………….

มีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาจะตัดสินหรือมองการกระทำของใครว่าถูกผิดดีชั่วอย่างไรนั้น เรามักจะยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งหรือเป็นเกณฑ์ตัดสิน และมองข้ามเจตนาของผู้กระทำนั้นไปเสียหมด

เช่นในกรณีที่กำลังถามใจญาติของคนป่วยอยู่นี้แหละ ถ้าญาติของเรารอดตาย เราก็จะบอกว่าคนที่พาญาติเราไปส่งโรงพยาบาลนั้นทำถูกทำดีแท้ๆ

แต่ถ้าญาติของเราตาย เราก็จะต้องว่าคนที่พาญาติเราไปส่งโรงพยาบาลนั้นทำผิด – เช่นนี้ ใช่หรือไม่?

หรือในกรณีที่คนพบเหตุไม่พาญาติของเราไปส่งโรงพยาบาล แล้วญาติเราเกิดตายอยู่ตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง เราก็จะต้องว่าคนที่ไม่พาญาติของเราไปส่งโรงพยาบาลนั้นทำผิด แล้งน้ำใจ ไร้มนุษยธรรม

แต่ถ้าคนคนนั้นไม่พาญาติเราไปส่งโรงพยาบาล หากแต่ช่วยดูแลอยู่ตรงนั้นและญาติเรารอดตาย เราก็จะบอกว่าคนคนนั้นทำถูกทำดีแล้ว

จะเห็นได้ว่า เราตัดสินด้วยผลประโยชน์ของเราล้วนๆ

ญาติเรารอด การกระทำนั้นถูก

ญาติเราตาย การกระทำนั้นผิด

การกระทำแบบเดียวกันแท้ๆ แต่เป็นได้ทั้งถูกทั้งผิด เพราะเราเอาผลประโยชน์ของเราเป็นตัวตัดสิน

แต่สิ่งที่เราไม่ได้คิดคำนึงถึงเลย ทั้งๆ ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในทุกเรื่องก็คือ เจตนาของผู้กระทำ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่เรามักลืมส่วนสำคัญที่สุดของเรื่องไปอย่างน่าตกใจ ก็เพราะถูกผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาบดบังดวงตาปัญญาของเรานั่นเอง

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ตัวตัดสินกรรมคือเจตนา แต่เวลาเราจะตัดสินคน แทนที่จะมองไปที่เจตนา เรากลับมองไปที่ผลประโยชน์ส่วนตัว ตลกดีไหม

เพื่อให้มองเห็นประเด็นชัดขึ้น ลองสมมุติอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ สมมุติว่าตำรวจกระทำวิสามัญฆาตกรรมวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นคนเกะกะเกเรก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่คนในชุมชนที่อยู่ด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง

ทีนี้ ลองถามความเห็นว่า คิดอย่างไรกับการกระทำของตำรวจ

คนในชุมชนนั้นจะยกมือท่วมหัวตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สาธุ แผ่นดินจะได้สูงขึ้น

พ่อแม่ของวัยรุ่นคนนั้นจะตอบว่า ตำรวจเลวมากที่มาฆ่าลูกของฉัน

จะเห็นได้ว่า เป็นคำตอบที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้

คนในชุมชนนั้นก็นึกถึงความสงบสุขของตน

พ่อแม่ของวัยรุ่นก็นึกถึงแต่ว่า-ลูกของฉัน

เมื่อมองแต่ผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ได้มองไปที่เจตนาของตำรวจที่เป็นตัวกำหนดให้มีการกระทำวิสามัญฆาตกรรม

แต่ถ้าลองไปถามคนที่อยู่ห่างออกไปร้อยกิโลเมตร ที่มิได้มีส่วนได้เสียกับชุมชนแห่งนั้น หรือไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรกับพฤติกรรมของวัยรุ่นคนนั้น หรือไม่ได้เป็นญาติโกโหติเกกับวัยรุ่นคนนั้นและไม่ได้เป็นญาติโกโหติเกกับตำรวจด้วย เขาก็จะตอบว่า —

ต้องดูกันที่รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น วัยรุ่นคนนั้นไปทำอะไรมา เพราะอยู่ๆ ตำรวจจะไปเที่ยวยิงใครเอาตามใจชอบไม่ได้ ตำรวจก็คงมีเหตุผลในการกระทำครั้งนี้ ควรจะตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อน

จะเห็นได้ว่า คราวนี้คำตอบจะพยายามเล็งไปที่ตัวเจตนาของผู้กระทำมากขึ้น เพราะผู้ตอบเป็นอิสระจากผลประโยชน์ส่วนตัว

นั่นก็แปลว่า เราจะมองเห็นข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงได้มากกว่า และเราจะมีท่าทีที่จะปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาบดบังดวงตาปัญญา

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๕:๓๓

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *