บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ทำไมต้องทิ้งตัวเอง

ทำไมต้องทิ้งตัวเอง (๖)

———————–

ข้ออ้างอีกข้อหนึ่งก็คือ วิทยาการทันสมัยมาจากฝรั่ง เราจึงจำเป็นต้องรับเอาวัฒนธรรมฝรั่ง หาไม่แล้วเราก็จะล้าหลังทางวิทยาการ 

ข้ออ้างเช่นนี้เองที่ทำให้นักวิชาการของเรานิยมพูดไทยคำฝรั่งสองคำ โดยอ้างว่าเป็นศัพท์วิชาการ แม้ที่ถอดออกมาเป็นคำไทยแล้วก็ยังไม่ยอมให้เป็นไทยแท้

เช่นคำว่า “ส่งออกข้าว” เป็นต้น 

นักวิชาการท่านยืนยันว่า ต้องพูดอย่างนี้ เพราะคำว่า “ส่งออก” เป็นศัพท์วิชาการ 

ถ้าจะถามต่อไปว่าวิชาการของใคร ก็คงได้รับคำตอบว่า วิชาการของฝรั่งนั่นเอง

เป็นอันได้ความรู้ใหม่ว่า ไทยเราเพิ่งจะรู้วิชาส่งข้าวเป็นสินค้าออกเพราะฝรั่งสอนให้ เราจึง “ส่งข้าวออก” ไม่เป็น แต่ “ส่งออกข้าว” เป็น

อันที่จริง แม้เราจะเรียนวิชาจากฝรั่ง แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นฝรั่งเลยแม้แต่น้อย บรรพบุรุษของเราก็เคยเรียนเอาความรู้จากฝรั่ง แต่ท่านก็พูดอย่างไทย เขียนอย่างไทย โดยไม่ต้องอ้างว่าเป็นศัพท์วิชาการ 

แม้วิชาการทหารสมัยใหม่เราก็เอาอย่างมาจากฝรั่ง ถ้าบรรพบุรุษของเราท่านกลัวจะเสียศัพท์วิชาการของฝรั่ง ทหารไทยก็คงต้องสั่งแถว สั่งทำความเคารพเป็นภาษาฝรั่งกันหมดทั้งกองทัพไปแล้ว ไม่ได้สั่งเป็นคำไทยๆ อย่างทุกวันนี้เป็นแน่

ทั้งหมดที่บรรยายมานี้เป็นเรื่องที่เราทิ้งตัวเอง หันไปรับวัฒนธรรมของคนอื่นอย่างไม่มีสติและไม่เลือก ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง 

คือไม่รู้ว่าตัวเองมีอะไรดีอยู่บ้าง ไม่รู้ว่าของดีที่ตัวมีอยู่นั้นจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างก็อย่างเช่นการไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติ เป็นเหตุให้ไม่นิยมศึกษาและประพฤติธรรม ต้องรอให้ฝรั่งเขามาศึกษาและปฏิบัติธรรมกันเสียก่อน เราจึงค่อยรู้สึกตื่นเต้น ค่อยสนใจที่จะเรียนรู้พระพุทธศาสนา-ตามฝรั่ง

๒. มองเห็นคุณค่าเหมือนกัน แต่เห็นผิด 

คือเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นสิ่งไร้ค่า เห็นของดีเป็นของเลว เห็นของตัวว่าต่ำต้อยกว่าของคนอื่น เห็นวัฒนธรรมของตัวเองว่าล้าหลัง สู้ฝรั่งไม่ได้ ดังที่มีคำพูดในเวลานี้ที่คนไทยบางกลุ่มเป็นคนพูดเองว่า – 

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนพื้นเมือง

ภาษาไทยเป็นภาษาของคนพื้นเมือง

“พื้นเมือง” ที่พูดนี้หมายถึง เป็นของคนในพื้นถิ่นกลุ่มเล็กๆ เป็นของเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ของที่เป็นสากล ถ้าจะให้บ้านเมืองของเราเป็นสากลเราต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาสากล ใช้ภาษาสากล ใช้มารยาทสากล

ทำนองเดียวกับที่คนไทยบางวงการเห็นว่า การอ้างปีพุทธศักราชนั้นไม่เป็นสากล ต้องอ้างปีศาสนาคริสต์ของฝรั่งจึงจะทันสมัย เมื่อพูดว่า พ.ศ.๒๕๖๔ จึงฟังดูจืดชืด ไร้ค่า ต้องพูดว่าปี ๒๐๒๑ จึงจะมีชีวิตชีวา เป็นสากล

เรากำลังทิ้งตัวเองได้ถึงเพียงนี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๓:๓๙

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *