ปฏิสัมพันธ์ (บาลีวันละคำ 3,211)
ปฏิสัมพันธ์
ควรจะมีความหมายอย่างไร
อ่านว่า ปะ-ติ-สำ-พัน
แยกศัพท์เป็น ปฏิ + สัมพันธ์
หรือแยกซอยเป็น ปฏิ + สัม + พันธ์
(๑) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :
“ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)
(๒) “สัม-”
คำเดิมในบาลีคือ “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ใช้นําหน้าศัพท์อื่น ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)
(๓) “พันธ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “พนฺธ” อ่านว่า พัน-ทะ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อ (อะ) ปัจจัย
: พนฺธฺ + อ = พนฺธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การผูก”
“พนฺธ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ห่วง, ตรวน (bond, fetter)
(2) ผู้มัดหรือผูกรวมกันไว้ (one who binds or ties together)
(3) การผูกชนิดหนึ่ง (a sort of binding)
(4) เชือกผูก, โซ่ (a halter, tether)
การประสมคำ :
(๑) สํ + พนฺธ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ + พนฺธ = สํพนฺธ > สมฺพนฺธ (สำ-พัน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “การผูกเข้าด้วยกัน” หมายถึง การเกี่ยวเนื่อง, ความสัมพันธ์, การผูกพัน (connection, tie)
“สมฺพนฺธ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมพันธ์” (สำ-พัน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัมพันธ-, สัมพันธ์, สัมพันธน์ : (คำกริยา) ผูกพัน, เกี่ยวข้อง, เช่น เขากับฉันสัมพันธ์กันฉันญาติ ข้อความข้างหลังไม่สัมพันธ์กับข้อความข้างหน้า. (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) การแยกความออกเป็นประโยค ๆ หรือส่วนต่าง ๆ ของประโยค แล้วบอกการเกี่ยวข้องของประโยคและคำต่าง ๆ ในประโยคนั้น ๆ. (ป., ส.).”
(๒) ปฏิ + สมฺพนฺธ = ปฏิสมฺพนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผูกรวมเข้าไว้ด้วยกันโดยเฉพาะ”
วากยสัมพันธ์อย่างง่ายๆ :
คำว่า “ปฏิสมฺพนฺธ” มีอุปสรรค 2 ตัว คือ “ปฏิ” และ “สํ”
“ปฏิ” ไม่ได้เกี่ยวกับ “สํ” โดยเฉพาะ และไม่ได้เกี่ยวกับ “พนฺธ” โดยเฉพาะเช่นกัน แต่เกี่ยวกับ “สมฺพนฺธ” คือเกี่ยวทั้ง “สํ” และ “พนฺธ”
ส่วน “สํ” เกี่ยวเฉพาะกับ “พนฺธ” แต่ไม่ได้เกี่ยวกับ “ปฏิ” ดังนั้น เวลาประสมคำ จึงต้องประสม “สํ” กับ “พนฺธ” ก่อน
เมื่อ “สํ” กับ “พนฺธ” ประสมกันเป็น “สมฺพนฺธ” ถือว่าเป็นคำเดียวกันแล้ว ต่อจากนั้นจึงประสม “ปฏิ” กับ “สมฺพนฺธ” ต่อไป
ด้วยประการฉะนี้ จึงกล่าวว่า “ปฏิ” ไม่ได้เกี่ยวกับ “สํ” และไม่ได้เกี่ยวกับ “พนฺธ” โดยเฉพาะ แต่เกี่ยวกับ “สมฺพนฺธ”
พูดล้อสำนวนวากยสัมพันธ์ก็ว่า (1) “สํ” เข้ากับ “พนฺธ” (2) “ปฏิ” เข้ากับ “สมฺพนฺธ”
นี่คือหลัก “วากยสัมพันธ์” (วิชาว่าด้วยความเกี่ยวข้องกันระหว่างถ้อยคำ) อย่างง่ายๆ
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “ปฏิสัมพันธ์” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า interaction
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล interaction เป็นไทยว่า “มีผลกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน, มีปฏิกิริยาต่อกัน”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล interaction เป็นบาลีว่า:
ubhayavyāpīkamma อุภยวฺยาปิกมฺม (อุ-พะ-ยะ-เวีย-ปิ-กำ-มะ) = การกระทำให้แผ่เข้าถึงกันทั้งสองฝ่าย
เนื่องจากคำว่า “ปฏิสัมพันธ์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดังนั้น จึงยังไม่อาจทราบได้ว่า คำนิยามหรือความหมายของคำว่า “ปฏิสัมพันธ์” ควรจะเป็นเช่นไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า ในทางสังคม “ปฏิสัมพันธ์” หมายถึง ความสัมพันธ์เฉพาะสองฝ่าย ขออธิบายด้วยตัวอย่างดังนี้
ดำกับแดงเป็น “เพื่อน” กันทางเฟซบุ๊ก เมื่อถึงวันเกิดของดำ แดงอวยพรวันเกิดไปทางกล่องข้อความของดำ
ดำโพสต์ข้อความขอบคุณ “เพื่อน” และ “ผู้ติดตาม” อื่นๆ ที่อวยพรวันเกิดให้ตน แต่ไม่ได้ตอบขอบคุณใครเป็นส่วนตัว รวมทั้งไม่ได้ตอบขอบคุณแดงด้วย – อย่างนี้คือ ดำมีสัมพันธ์ทั่วไป ซึ่งอาจเรียกเป็นศัพท์ว่า “สหสัมพันธ์” (สัมพันธ์รวม) แต่ไม่มี “ปฏิสัมพันธ์” กับใคร
แต่ถ้าดำตอบขอบคุณแดงทางกล่องข้อความ นี่คือดำกับแดงมี “ปฏิสัมพันธ์” ต่อกัน ดำตอบขอบคุณใครเป็นส่วนตัว นั่นคือดำมี “ปฏิสัมพันธ์” กับคนนั้นๆ
“ปฏิสัมพันธ์” ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจมีความหมายดังว่ามานี้
ท่านผู้อื่นเข้าใจอย่างไร ถ้าช่วยกันแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชา ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การศึกษาภาษาไทยของเรา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้ก็ไม่ว่า
: ขอเพียงอย่าตัดสัมพันธ์เท่านั้นพอ
#บาลีวันละคำ (3,211)
28-3-64