บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ยามดีท่านใช้ ยามไข้ท่านทิ้ง

ยามดีท่านใช้ ยามไข้ท่านทิ้ง (๑)

——————————

หรือ-เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล

หรือ-สุนัขไล่เนื้อ

………………….

ขออนุญาตใช้เนื้อที่ของเฟซบุ๊กแจ้งข่าว-เล่าความในใจบางเรื่องนะครับ

ผมเคยเล่าเรื่องพี่ชายที่บวชอยู่ แล้วอาพาธ ไม่มีใครดูแล โดยเฉพาะคณะสงฆ์ไม่ได้ดูแลอย่างเป็นทางการ ในที่สุดต้องเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของทางราชการ – รายละเอียดตามลิงก์ข้างล่างนี้

……………………………………..

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3067555346671515

……………………………………..

พี่ชายผมเข้าไปอยู่ใน “สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจวบคีรีขันธ์” หรือ “บ้านประจวบโชค” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการสังกัดกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓

ขอแจ้งให้ทราบว่า บัดนี้พี่ชายผม “ตาย” แล้วเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ และเผาไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่วัดนิคมราษฎร์รังสรรค์ อำเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เป็นอันปิดฉากชีวิตของชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในสมณเพศและรับใช้พระศาสนามาเกือบ ๕๐ ปี และ “ตาย” อย่าง “คนไร้ที่พึ่ง”

ขอบคุณมรณบัตรที่ระบุว่า ผู้ตายชื่อ “พระสมจิตต์ แสนสินชัย” ซึ่งทำให้ท่านได้ “ตายในผ้าเหลือง” สมเจตนา

นั่นเป็นการแจ้งข่าว

ต่อไปนี้เป็นความในใจ

ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจวบคีรีขันธ์ที่ดูแลพี่ชายผมเป็นอย่างดีตลอดเวลาเดือนครึ่ง แม้กำลังคนจะอยู่ในอัตรา ๑ ต่อผู้อยู่ในความดูแล ๘๐ (เจ้าหน้าที่ ๑/๘๐)

ขอบคุณโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ที่รักษาพยาบาลที่ชายผมอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ขอบคุณสถานคุ้มครองฯ และโรงพยาบาล ที่จัดผู้แทนไปร่วมในพิธีเผาศพด้วย นับเป็นการให้เกียรติกันอย่างยิ่ง

กราบขอบพระคุณวัดนาหูกวาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สถานที่พักพิงชั่วคราวแห่งสุดท้ายของพี่ชายผม กราบขอบพระคุณท่านเจ้าอาวาสที่เมตตาดูแลด้วยความอดทน และยังมีเมตตามอบผ้าไตรและปัจจัยจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการเผาศพ

กราบขอบพระคุณคณะสงฆ์วัดนิคมราษฎร์รังสรรค์และทายกทายิกาของวัดที่มีเมตตาอนุเคราะห์ในการจัดพิธีเผาศพให้เป็นอย่างดียิ่ง (เมื่อผู้อยู่ในความดูแลของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจวบคีรีขันธ์ถึงแก่ความตาย วัดนิคมราษฎร์รังสรรค์ซึ่งเป็นวัดในพื้นที่เป็นที่พี่งเช่นนี้เสมอมา)

กราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่มีเมตตามอบผ้าไตรและปัจจัยจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการเผาศพ และในวันเผา พระเดชพระคุณยังได้มีเมตตาเดินทางมาเผาศพด้วยตัวเองทั้งๆ ที่ติดการคณะสงฆ์ในจังหวัดอยู่

พระเดชพระคุณเมตตาเป็นการส่วนตัวด้วยเหตุผลสำคัญประการเดียวคือ “คนเคยอยู่ด้วยกัน”

พี่ชายผมเคยจำพรรษาที่วัดมหาธาตุ ราชบุรีอยู่ระยะหนึ่ง

เมื่อปีก่อน ตอนที่ผมกำหนดแผนรับตัวพี่ชายกลับมาอยู่ราชบุรี ได้ไปกราบขอความเมตตาฝากพระพี่ชายให้อยู่ที่วัดมหาธาตุ พระเดชพระคุณตอบรับทันที สั่งให้พระจัดเตรียมกุฏิไว้ให้เป็นอย่างดี แต่แล้วพี่ชายผมก็ไม่ยอมกลับ

เมื่อผมไปกราบเรียนเรื่องพี่ชายตาย ผมยังไม่ได้บอกว่าตาย แต่ลำดับความตั้งแต่อาพาธไม่มีใครดูแลให้ท่านฟัง

พระเดชพระคุณฟังไม่ทันจบก็บอกว่า ไปเอามาอยู่วัดมหาธาตุนี่เลย

พอผมบอกว่าตายแล้ว ท่านก็อึ้งไปทันที

ทั้งหมดนี้เกิดจากความคุ้นเคยเป็นส่วนตัว

ความในใจของผมก็คือ-ผมอยากเห็นความคุ้นเคยเป็นส่วนตัวเช่นนี้แปรรูปหรือเปลี่ยนสภาพเป็น “ระบบ”

หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า ผมอยากเห็นคณะสงฆ์สร้าง “ระบบ” ขึ้นมาโดยอิงอาศัยพระพุทธบัญญัติตรัสสั่งอันปรากฏในพระวินัยปิฎกที่ผมเคยอัญเชิญมาให้ศึกษากันในครั้งก่อนโน้น

……………………….

สเจ  น  โหติ  อุปชฺฌาโย  วา  อาจริโย  วา  สทฺธิวิหาริโก  วา  อนฺเตวาสิโก  วา  สมานุปชฺฌายโก  วา  สมานาจริยโก  วา  สงฺเฆน  อุปฏฺฐาตพฺโพ.  โน  เจ  อุปฏฺฐเหยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺส.

ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์, สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาลต้องอาบัติทุกกฏ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ จีวรขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๑๖๖

……………………….

นั่นคือ เมื่อมีภิกษุสามเณรอาพาธ-โดยเฉพาะอาพาธติดเตียง-สงฆ์คือ “คณะสงฆ์” ต้องดูแล

คณะสงฆ์จะดูแลได้ก็ต้องสร้างกฎกติกาคณะสงฆ์ขึ้นมา ภารกิจเบื้องต้นก็คือตั้ง “กองทุนดูแลพระภิกษุสามเณรอาพาธ”

ทรัพยากรของคณะสงฆ์มีอยู่เป็นอเนกอนันต์ เอามาบริหารจัดการให้ดีๆ สามารถตั้งเป็นกองทุนได้อยู่แล้ว

อุปสรรคสำคัญที่ขวางหน้าอยู่มีเพียงประการเดียว คือ การไม่มีความคิดที่จะทำ

ซ้ำยังมีแนวร่วม – “มันทำไม่ได้หร็อก” คอยสนับสนุน

ปลุกความคิดที่จะทำขึ้นมา

สยบความคิดว่ามันทำไม่ได้ลงไป

อย่างที่รู้กัน-ถ้าผู้มีอำนาจสั่ง เพียงเช้าชั่วเย็นก็ทำสำเร็จ ทำไมจะทำไมได้

จึงขอให้ทำความรู้สึกว่า บัดนี้ผู้มีอำนาจได้สั่งแล้ว

“ผู้มีอำนาจ” ที่ว่านี้ก็คือ ความสำนึกในหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความเคารพในพุทธบัญญัติ-พุทธบัญญัติที่ว่า เมื่อมีภิกษุอาพาธ สงฆ์ต้องดูแล

สิ่งเหล่านี้มีอำนาจสูงสุดกว่าผู้มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

“ระบบ” ที่ผมว่าก็คือ เมื่อมีภิกษุสามเณรอาพาธติดเตียง

จะรู้จักเป็นส่วนตัวหรือไม่รู้จักก็ตาม

จะชอบหรือไม่ชอบกันก็ตาม

จะสังกัดนิกายไหนก็ตาม

จะอยู่ในส่วนไหนของบ้านเมืองก็ตาม

“ระบบ” ของคณะสงฆ์จะเข้าไปดูแลทันที

ไม่ต้องถามหาญาติ

ไม่ต้องเรียกหาคนรับผิดชอบ

คณะสงฆ์คือญาติที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่แล้ว

ระบบของคณะสงฆ์คือผู้รับผิดชอบที่ดีที่สุดอยู่แล้ว

อยู่ก็ไม่ต้องอยู่อย่างเดียวดาย

ตายก็ไม่ต้องตายอย่างคนไร้ที่พึ่ง

ไม่ต้องรอน้ำใจจากคนที่รู้จักคุ้นเคย

คณะสงฆ์ทั้งหมดคือผู้รู้จักคุ้นเคยที่ประเสริฐที่สุดอยู่แล้ว

ขอให้นึกเทียบดูกับกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จัดให้มีขึ้นในหน่วยงานต่างๆ สมาชิกจะไม่ต้องตายอย่างคนไร้ที่พึ่งอย่างแน่นอน

คณะสงฆ์ควรมีระบบแบบเดียวกันนั้น แต่รับผิดชอบลึกลงไปจนถึงดูแลกันตั้งแต่เมื่ออาพาธไปเลย ไม่ใช่ดูแลเฉพาะเมื่อตาย

ข้อสำคัญ ไม่ต้องเรียกเก็บเงินค่าบำรุงจากพระเณรเหมือนระบบของทางโลก แต่มีระบบกองทุนที่ตั้งขึ้นคอยดูแล

ขอความกรุณาอย่าเย้ยหยันกันว่าฝันเฟื่อง

แต่ขอให้ช่วยกันคิด-คิดหาวิธีการที่จะช่วยกันทำให้สำเร็จ

……………….

เวลานี้คณะสงฆ์มีหน่วยงานที่เป็นมือเป็นเท้าอยู่แล้ว นั่นคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติของหน่วยงานนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้คณะสงฆ์จงใช้สิทธิ์ทำให้เป็นหน่วยที่รับใช้คณะสงฆ์ไทย

ไม่ใช่รับใช้นายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่รับใช้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และไม่ใช่รับใช้ ผอ.พศ.

หรือรับใช้ผู้ว่าราชการจังหวัด

แต่ต้องรับใช้คณะสงฆ์ไทยโดยเฉพาะและโดยตรง

ขณะนี้ พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) มีหน่วยงานในสังกัดอยู่ครบแล้วทุกจังหวัด

ผมขอเสนอให้ พศ. ปฏิวัติหลักการทำงานใหม่ทั้งหมด

นั่นคือ งานหลักต้องอยู่ที่วัด อยู่กับพระเณร

ไม่ใช่อยู่แต่ในสำนักงานที่ศาลากลางหรือที่ตั้งสำนักงาน

พศ.จังหวัดไหน ต้องรู้จักวัดทุกวัดในพื้นที่ หลับตามองเห็น ไปถูกและไปถึงได้ทันที รู้สภาพวัด สภาพพระเณร

เริ่มด้วยการออกสำรวจข้อมูลวัด ข้อมูลพระภิกษุสามเณรในจังหวัด

พระราชาคณะมีกี่รูป

พระครูสัญญาบัตรมีกี่รูป

พระเปรียญมีกี่รูป จำแนกเป็นเปรียญชั้นไหนบ้าง

พระนักธรรมมีกี่รูป จำแนกเป็นนักธรรมชั้นไหนบ้าง

พระที่ไม่มีวุฒิทางธรรมมีเท่าไร

จำนวนพระเณรแต่ละวัด

รายละเอียดของพระเณรแต่ละรูป

ฯลฯ

ข้อมูลดังกล่าวนี้ ถ้า พศ.จังหวัดมีอยู่แล้วหรือทำอยู่แล้ว ก็ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้น เป็นปัจจุบันทันสมัยยิ่งขึ้น และให้ถือว่าเป็นข้อมูลหลัก เรียกดูได้ทันทีและเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ข้อมูลตั้งแต่ปีที่แล้วหรือแม้แต่เดือนที่แล้ว

และที่ต้องเพิ่มเข้าไปในรายการข้อมูลก็คือ ในแต่ละจังหวัดมีพระภิกษุสามเณรอาพาธติดเตียงบ้างหรือไม่ มีเท่าไร อยู่ที่วัดไหนบ้าง สภาพการดูแลรักษาเป็นอย่างไร

ภาพรวมทั้งจังหวัด ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มีพระภิกษุสามเณรอาพาธติดเตียงอยู่เท่าไร ถ้าคณะสงฆ์จะต้องดูแล-ตามพุทธบัญญัติ-ด้วยการดูแลรักษาเต็มตามมาตรฐาน จนกว่าจะหายหรือจนกว่าจะมรณภาพ จะต้องใช้งบประมาณเดือนละเท่าไร ปีละเท่าไร

แล้วก็มาดูกันว่า กองทุนที่คณะสงฆ์คิดอ่านตั้งขึ้นมีทุนอยู่เท่าไร เพิ่มทุนได้ปีละเท่าไร หนทางที่จะเพิ่มทุนสามารถทำได้อย่างไรบ้าง และต้องมีทุนเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการใช้ดูแลรักษา

อย่างที่เรารู้กัน บุคลากรในคณะสงฆ์ที่เก่งในทางหาเงินสร้างนั่นนี่โน่นมีอยู่เป็นจำนวนมากและมีอยู่ทั่วไป ขอให้ท่านเหล่านั้นเพลามือจากการหาเงินสร้างวัตถุ แล้วหันเห-มาช่วยกันหาเงินเข้ากองทุนนี้

คณะสงฆ์เคยมีนโยบายที่รู้กันเงียบๆ ว่าวัดไหนสร้างโบสถ์สร้างศาลาสร้างเมรุสร้างโรงเรียน เจ้าอาวาสมีสิทธิ์ได้เป็นพระครูได้เป็นเจ้าคุณ ค่านิยม-เป็นเจ้าอาวาสต้องคิดสร้างนั่นนี่โน่นยังติดมาจนถึงทุกวันนี้

ลองหันเหียนเปลี่ยนมาเป็นว่า-เจ้าอาวาสหรือพระรูปไหนหาเงินเข้ากองทุนดูแลพระภิกษุสามเณรอาพาธติดเตียงได้มาก มีสิทธิ์ได้รับการยกย่องให้ปรากฏในคณะสงฆ์-ดูบ้างก็ยังได้

ถึงตอนนั้น ถ้าใครพูดว่า “พระครูเงินหมื่น เจ้าคุณเงินแสน” ก็ยืดอกตอบได้เต็มปากว่า เงินหมื่นเงินแสนก็เข้ากองทุน ไม่ได้เข้าย่ามใครเป็นส่วนตัว

ขอความกรุณา อย่าคิดเย้ยหยันแนวคิดที่ผมเสนอมานี้ว่าฝันเฟื่อง ทำไม่ได้

แต่ขอความเมตตาช่วยกันคิดว่า ในชั่วชีวิตของเรานี้เราจะหาทางทำให้สำเร็จได้อย่างไร

ความในใจเรื่องนี้ยังไม่จบครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๐:๓๕

——-

คำบรรยายภาพ 06

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานพิธีมอบประกาศเกียรติบัตรอบรมพระสังฆาธิการหนกลาง รุ่นที่ ๑๒ พุทธศักราช ๒๕๕๑ แด่ พระใบฎีกาสมจิตต์ ปสนฺนจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดดอนใจดี ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *