บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง The Confession

ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ก็มานั่งคิดด้วยความพิศวง

คนที่ไม่ได้ทำผิด ถ้าจะมีใครฟ้องร้องให้เขารับผิด เขาก็ต้องสู้เป็นธรรมดา เพราะเขาไม่ได้ทำผิดจริงๆ

แต่คนที่ทำผิดจริงๆ ทำลงไปแล้วกลับไม่ยอมรับผลแห่งการกระทำของตน นี่มันคนชนิดไหน

ครูบาอาจารย์สอนมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมว่า คนเราทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด

นักเลงปากท่อสอนผมว่า ลูกผู้ชายทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด

เป็นคำสอนที่ตรงตามหลักสัจธรรมที่สุด

คำเจริญอุเบกขาภาวนาตอนหนึ่งท่านก็แสดงไว้ว่า

ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา

ตสฺส ทายาโท (ทายาทา) ภวิสฺสามิ.

เราทำกรรมอันใดไว้

ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม

จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น

แต่คนเรามักจะปฏิเสธสัจธรรมข้อนี้ทั้งๆ ที่เป็นหลักความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

ชอบกลแท้ๆ

คำว่า “ชอบกลแท้ๆ” นี่ คงจะมีคนเป็นอันมากแย้งว่า ไม่ใช่เรื่องชอบกลเลย เป็นเรื่องธรรมดาของคน คนมันก็ต้องเป็นอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ โลกมันเป็นอย่างนี้ ใครเห็นว่ามันชอบกล แสดงว่ารู้ไม่ทันโลก

อ้าว!

ผมว่าถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานละก็ ผมเห็นด้วย

เห็นด้วยว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เพราะสัตว์มันแยกผิด-ถูก ชั่ว-ดีไม่เป็น

แต่มนุษย์-หรือคน-ไม่ใช่สัตว์แบบนั้น

ใครที่บอกว่า “คนมันก็ต้องเป็นอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ” – นี่น่ากลัวนะครับ เพราะเท่ากับยอมรับว่า คน-รวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วย-ยังเป็นสัตว์อยู่

พอพูดอย่างนี้ก็จะไปเข้าทางของนักตรรกะที่จะออกมาบอกว่า-คนก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ก็ถูกแล้วไง

รับลูกกันได้อีก

แปลว่าคนกับสัตว์เดรัจฉานนี่ไม่มีอะไรต่างกันเลย อย่างนั้นหรือ

แปลว่าเราพอใจที่จะทำอะไรๆ แบบเดียวกับที่สัตว์มันทำ อย่างนั้นหรือ

แปลว่าบรรดา “ธรรม” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรม วัฒนธรรม หรือศีลธรรม เรามาช่วยกันเหยียบมันไว้ใต้ฝ่าตีนเสียให้หมด อย่างนั้นหรือ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *