บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อ่านโคลงโลกนิติ พินิจพระธรรมบท (๔)

อ่านโคลงโลกนิติ พินิจพระธรรมบท (๔)

—————————————-

(เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากโคลงโลกนิติที่มีญาติมิตรท่านหนึ่งยกขึ้นมาประกอบความเห็นเกี่ยวกับกรณีเด็กออกมาแสดงความเห็นในปัญหาบ้านเมือง ผมได้เขียนอธิบายไปแล้ว ๓ ตอน ตอนนี้น่าจะเป็นตอนจบ)

………………………………

ตอน ๑

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3268837436543304

ตอน ๒

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3269098493183865

ตอน ๓

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3269465219813859

………………………………

มีคำในโคลงโลกนิติบทหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา นั่นคือบทที่ว่า –

………..

อายุถึงร้อยขวบ เจียรกาล

ธัมโมชอันโอฬาร บ่รู้

เด็กน้อยเกิดประมาณ วันหนึ่ง

เห็นถ่องธรรมยิ่งผู้ แก่ร้อยพรรษา

………..

คำที่ผมเห็นว่าควรพิจารณาก็คือคำว่า “ธัมโมช” 

“ธัมโมช” อ่านว่า ทำ-โมด แยกศัพท์เป็น ธัมม + โอช 

ธัมม คือธรรมะ 

โอช คือรสอร่อย 

นี่แปลคล้อยตามความเข้าใจของคนทั่วไป 

“ธัมโมช” ตามความหมายที่เข้าใจกันจึงหมายถึงโอชะแห่งธรรมะ คือความอร่อยอันเกิดจากธรรมะ กล่าวคือ เรียนธรรม รู้ธรรม ปฏิบัติธรรม มีธรรม แล้วเกิดความรู้สึกเอิบอิ่ม สดชื่น มีความสุข

เรื่องก็ควรจะจบแค่นี้ 

แต่เพราะโคลงโลกนิติชุดนี้มี “ที่มา” ซึ่งเป็นคาถาในคัมภีร์พระธรรมบท หรือ “ธัมมปทคาถา” หนังสือประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติก็มีตัวคาถาลงกำกับไว้ และมีโคลงสำนวนเก่าลงไว้อีกบทหนึ่งด้วย

โคลงสำนวนเก่าที่ท่านพิมพ์ไว้ว่าดังนี้ (ดูภาพประกอบ)

………..

อายุยืนร้อยอยู่ หึงนาน

ธัมโมตตมะโอฬาร ห่อนรู้

เด็กน้อยเกิดปูนปาน วันหนึ่ง

เห็นพระธรรมยิ่งผู้ แก่ร้อยพรรษา

………..

“ธัมโมช” เป็นคำในสำนวนที่สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรท่านปรับแก้ใหม่ คำนี้โคลงสำนวนเก่าเขียนเป็น “ธัมโมตตมะ” อ่านว่า ทำ-โมด-ตะ-มะ

“ธัมโมตตมะ” มาอย่างไร ต้องตามไปดูคาถาต้นฉบับ

ธัมมปทคาถาเฉพาะบทที่เอาไปแปลงเป็นโคลงมีข้อความดังนี้ – 

………..

โย จ วสฺสสตํ ชีเว 

อปสฺสํ ธมฺมมุตฺตมํ 

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย 

ปสฺสโต ธมฺมมุตฺตมํ.

(โย จะ วัสสะสะตัง ชีเว 

อะปัสสัง ธัมมะมุตตะมัง 

เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย 

ปัสสะโต ธัมมะมุตตะมัง.)

ผู้เห็นพระธรรมอันประเสริฐ 

มีชีวิตอยู่วันเดียว 

ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี 

ของผู้ไม่เห็น 

………..

เห็นได้ชัดว่า “ธัมโมตตมะ” แผลงไปจาก “ธมฺมมุตฺตมํ” (ธัมมะมุตตะมัง)

“ธมฺมมุตฺตมํ” แยกศัพท์เป็น ธมฺมํ + อุตฺตมํ แปลทับศัพท์ว่า “ธรรมอันอุดม” หรือที่ในคำแปลของท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลว่า “พระธรรมอันประเสริฐ” 

“ธมฺมํ อุตฺตมํ” ถอดวิภัตติปัจจัยออกก็เป็น “ธมฺม อุตฺตม” 

ธมฺม + อุตฺตม สนธิกันเป็น “ธมฺโมตฺตม” อ่านว่า ทำ-โมด-ตะ-มะ ก็คือที่เอามาใช้ในโคลงสำนวนเก่าเป็น “ธัมโมตตมะ”

จะเห็นได้ว่า โคลงสำนวนเก่าท่านคงคำตามต้นฉบับไว้ 

แต่โคลงที่ปรับปรุงใหม่แก้ “ธัมโมตตมะ” เป็น “ธัมโมช” กลายเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่ ไปคนละเรื่อง

คำว่า “ธมฺมมุตฺตมํ” (ธัมโมตตมะ) คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (แนะนำให้รู้จักแล้วตั้งแต่ตอนที่ ๑) ขยายความไว้ดังนี้ – 

………..

ธมฺมมุตฺตมนฺติ  นววิธํ  โลกุตฺตรธมฺมํ.  โส  หิ  อุตฺตมธมฺโม  นาม. 

คำว่า ธมฺมมุตฺตมํ หมายถึง โลกุตรธรรม ๙ อย่าง. โลกุตรธรรมนั้นแลชื่อว่าธรรมอันอุดม.

ที่มา: พหุปุตฺติกาเถรีวตฺถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ หน้า ๑๔๙

………..

โลกุตรธรรม ๙ ก็คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

มรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค

ผล ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล

ผู้บรรลุมรรคผลครบทั้ง ๘ ก็คือพระอรหันต์

ผู้บรรลุมรรคผลครบทั้ง ๘ ก็คือบรรลุนิพพาน

เพราะฉะนั้น โดยรวบยอด “ธมฺมมุตฺตมํ” หรือ “ธัมโมตตมะ” ก็คือพระนิพพาน

ส่วนคำว่า “ธัมโมช” (เขียนแบบบาลีเป็น ธมฺโมช” = ทำ-โม-ชะ) ในคัมภีร์ทั่วไปพบว่ามักใช้เป็นคำขยายความคำว่า “ปัญญา”

คำบาลีว่า “ธมฺโมชปฺปญฺญา” แปลกันโดยทั่วไปว่า “ปัญญาอันมีโอชะเกิดแต่ธรรม” หมายถึงปัญญาทางธรรม ไม่ใช่ปัญญาทางโลก-เช่นเรียนจบดอกเตอร์ ๑๘ สาขา แบบนี้เป็นปัญญาทางโลก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺโมช” ว่า the essence or sap of the Dhamma (รสหรือเนื้อแท้ของธรรม) 

เป็นอันว่า “ธัมโมตตมะ” คือพระนิพพาน

ส่วน “ธัมโมช” คือปัญญา

จะเห็นได้ว่า พอไปแก้คำเข้า ความหมายก็เปลี่ยน

กวีผู้แก้อาจคิดเพียงแค่-ความตรงนี้พูดถึง “ธรรมะ” 

“ธัมโมตตมะ” ก็ธรรมะ 

“ธัมโมช” ก็ธรรมะเหมือนกัน 

“ธัมโมตตมะ” รูปคำดูรุงรังฟังเข้าใจยาก 

แต่ “ธัมโมช” ดูสละสลวยกว่า 

ไม่ได้ทันคิดว่าแก้แล้วความหมายจะผิดไปจากเดิม

แต่ที่สำคัญเกินจะคาดคิดก็คือ แก้แล้วความในพระพุทธพจน์บทนั้นก็วิปริตไปทันที 

มีผลเท่ากับทำให้พระพุทธพจน์คลาดเคลื่อนนั่นเอง

“ธมฺมมุตฺตมํ” หรือ “ธัมโมตตมะ” มีความผิดอะไร หรือบกพร่องอะไร จึงจะต้องไปแก้ของท่านเป็น “ธัมโมช”

เปิดทางให้นักประนีประนอมออกมาตีความอธิบายให้ “ธัมโมช” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ธัมโมตตมะ” เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ขึ้นมาอีก

และถ้ายังใช้หลักการ-เพื่อความทันสมัย แก้ไขกันไปเรื่อยๆ จาก “ธัมโมตตมะ” เป็น “ธัมโมช” ต่อไปอาจกลายเป็น “ทำโรงโม่” หรือ “ทำไร่แตงโม” ไปเลย

เห็นประโยชน์ของการดำรงรักษารากเหง้าเค้าเดิมหรือยัง

และเห็นโทษของการมุ่งแต่จะปรับแก้เปลี่ยนแปลงของเดิมให้เป็นไปตามที่คิดเอาเองว่าจะทันสมัยดีกว่าของเก่า-บ้างหรือไม่ 

…………..

พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้นมีนักวิชาการเรียกว่า “พุทธศาสนาแบบจารีตนิยม”

เวลานี้มีคนเรียกพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทว่าเป็น “พุทธศาสนาแบบแช่แข็ง” (เขาใช้คำนี้จริงๆ) คือมุ่งแต่จะรักษาแบบแผนดั้งเดิมเอาไว้ให้มั่นคง ไม่ยอมปรับแก้อะไร พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจึงไม่ทันสมัย

ที่น่าจับตามองก็คือ ผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ก็คือผู้ที่กำลังเข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเรานี่แหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน

ผมยก “ธัมโมตตมะ” กลายเป็น “ธัมโมช” มาชี้ให้ดูก็ด้วยความหวังว่า จะช่วยให้เราท่านทั้งหลายมีสติรอบคอบ

หลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น เรามีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งถูกต้องครบถ้วนตรงตามที่ท่านสอนไว้ 

ชอบใจข้อไหน เราก็อัญเชิญมาประพฤติปฏิบัติ

ไม่ชอบใจข้อไหน ก็วางของท่านไว้ที่เดิม

ไม่ใช่เอาของท่านมาแก้ไขปรับเปลี่ยนเพื่อให้ถูกใจเรา หรือเพื่อสนองความปรารถนาของใคร

ถ้าอยากทำเช่นนั้น ต้องไปตั้งศาสนาของตัวเองครับ 

อย่ามาอยู่ในศาสนาของท่าน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ กันยายน ๒๕๖๓

๑๖:๔๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *