บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง กรอบของพระสงฆ์ไทย

หรือออกกฎหมายพิเรนทร์ให้พระต้องมีภรรยา รูปไหนไม่มีภรรยา ต้องสึก

พระพุทธศาสนา-ในฐานะเป็นองค์กร-ต้องอยู่ในสังคม คืออยู่ในบ้านเมือง ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองไม่นับถือแล้วบีบคั้นอีกด้วย พระก็อยู่ยาก

ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้-ก็จริงอย่างที่ชอบอ้างกัน แต่มีคนที่สามารถทำลายองค์กรสงฆ์ได้ ทำลายกิจกรรมของสงฆ์ได้ และแม้แต่ทำลายตัวพระสงฆ์เองก็ได้

ไม่มีองค์กร ไม่มีกิจกรรม ไม่มีพระสงฆ์ พระพุทธศาสนาก็ปรากฏตัวสู่สายตาสังคมในฐานะเป็นกระบวนการไม่ได้

อาจจะยังมีอยู่ได้ในจิตใจและในความประพฤติส่วนตัวของผู้คนแต่ละคน

แต่เมื่อดูแนวโน้มในปัจจุบันแล้ว จิตใจและความประพฤติของผู้คนในสังคมไทยดูจะอยู่ห่างไกลจากคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

นี่แหละที่เป็นสิ่งบอกเหตุว่าพระพุทธศาสนาอาจจะสูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทยได้ไม่ยากเลย

ที่ว่ามานี้เป็นการคิดแถมให้นะครับ แถมต่อมาจากเรื่องพระสงฆ์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง

———————-

ทีนี้ก็มาถึงตัวพระธรรมวินัยอันเป็นกรอบใหญ่และสำคัญที่สุด

กรอบทั้ง ๓ ที่กล่าวมา คือ จารีต กฎ-ระเบียบคณะสงฆ์ และกฎหมายของบ้านเมือง อาจถูกเปลี่ยนแปลงได้ตามกาละและเทศะ

แต่กรอบพระธรรมวินัยนั้นเปลี่ยนไม่ได้

บรรพบุรุษของพระสงฆ์เถรวาท คือพระอรหันตเถระ ๕๐๐ ที่ประชุมกันทำปฐมสังคายนาภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๓ เดือนได้ลงมติกันชัดเจนแล้วว่าจะรักษาพระธรรมวินัยไว้ให้ตรงตามที่พระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งสอนไว้

เรื่องนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ ขออนุญาตยกไปเขียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งในชื่อ “หลักการของเถรวาท”

ผู้สนใจโปรดศึกษารายละเอียดทั้งหมดของเรื่องได้จากพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ เล่ม ๗ ข้อ ๖๑๔-๖๒๙ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๙ หน้า ๕๐๙-๕๒๙

ปัญหามีอยู่ตรงที่ว่าสงฆ์ฝ่ายเถรวาท-โดยเฉพาะสงฆ์ในประเทศไทย-ศึกษาพระธรรมวินัยที่ถืออยู่ในนิกายของตนเข้าใจชัดเจนแล้วประพฤติปฏิบัติถูกต้องตรงกันแค่ไหน

ถ้ารู้เป้าหมายของการบวชในพระพุทธศาสนาว่าอยู่ที่ไหน และเข้าใจเข้าถึงเจตนารมณ์ของสิกขาบทแต่ละข้อ การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็จะโปร่งโล่งเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม คือจะไม่เห็นเป็นว่า-พระธรรมวินัยกลายเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายในการบวชไปเสียเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *