บาลีวันละคำ

ครุ/คุรุ (บาลีวันละคำ 134)

ครุ/คุรุ

อ่านว่า คะ-รุ / คุ-รุ

“ครุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ครุ” = หนัก, สำคัญ และ “ครู” = ครู

คำบาลี “ครุ” ในยุคหลังใช้เป็น “คุรุ” ซึ่งตรงกับรูปคำสันสกฤต = ครู

“ครุ” แปลว่า

1 “อวัยวะที่กางออกได้” = ปีกนก

2 ใหญ่, หนา, มาก, กว้างขวาง, หนัก, น้ำหนักบรรทุก, สำคัญ

3 ครู, ผู้สอน, ผู้แนะนำ, ผู้ควรเคารพ

“ครุ” ที่หมายถึง “ครู” แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ผู้ลอยเด่น” (2) “ผู้หลั่งความรู้ไปในหมู่ศิษย์” (3) “ผู้คายความรู้ให้หมู่ศิษย์”

แปลตามความหมายที่รับรู้ได้ด้วยความรู้สึกว่า ผู้รับภาระอันหนัก, ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ, ผู้ควรได้รับการยกย่อง, ผู้ควรให้ความสำคัญ, ผู้ควรแก่ค่าสูง

ไทยเรามีวัฒนธรรมเคารพครูอย่างยิ่ง ใครตำหนิตัวเองที่เป็นศิษย์บางทียอมก็ได้ แต่ถ้าลามไปถึงครูบาอาจารย์ เป็นไม่ยอม เราจึงมีคำว่า “ศิษย์มีครู”

ไทยเรารู้จักคำว่า “คุรุ” มาพร้อมๆ กับ “ครุ” และเราเลือกใช้ว่า “ครู”

ฝรั่งเพิ่งมาเห่อคำว่า “คุรุ” เมื่อไม่นานมานี้ แต่ออกเสียงว่า “กูรู” ไทยที่เห่อฝรั่งก็พากันใช้คำว่า “กูรู” ไปด้วย

เหมือนกับไม่เคยมี “ครู”

บาลีวันละคำ (134)

19-9-55

ครุ

1 ปีกนก

คิรตีติ ครุ อวัยวะที่กางออกได้

คิรฺ ธาตุ ในความหมายว่าคลี ขยาย อุ ปัจจัย แปลง อิ เป็น อ

2 ถาวรวัตถุ, ใหญ่, หนา, มาก, กว้างขวาง

ครติ สิญฺจติ วิตฺถาเรตีติ ครุ สิ่งที่เลื่อนไหล กว้างขวางไป

ครฺ ธาตุ ในความหมายว่าไหลไป อุ ปัจจัย

3 ครู

– ครติ อุคฺคจฺฉติ อุคฺคโต ปากโฏ ภวตีติ ครุ ผู้ลอยเด่น

ครฺ ธาตุ ในความหมายว่าลอยขึ้น อุ ปัจจัย

– ครติ สิญฺจติ สิสฺเสสุ สิเนหนฺติ ครุ ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครฺ ธาตุ ในความหมายว่าไหลไป อุ ปัจจัย

– คิรติ สิสฺเสสุ สิเนหํ วมตีติ ครุ ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์

ครฺ ธาตุ ในความหมายว่าคาย, หลั่ง อุ ปัจจัย ลบ อิ

ครุ ค.

ใหญ่, หนัก, ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ, ผู้ควรได้รับการยกย่อง, สำคัญ.

ป.

ครู, ผู้สอน, ผู้แนะนำ, ผู้ควรเคารพ; ปีก. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ครุก ค.

ใหญ่, หนัก, ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ, ผู้ควรได้รับการยกย่อง, สำคัญ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ครุ

เสียงหนัก ได้แก่ทีฆสระ คือ อา, อี, อู, เอ, โอ และสระที่มีพยัญชนะสะกดซึ่งเรียกว่า สังโยค เช่น พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน; คู่กับ ลหุ (ประมวลศัพท์)

คุรุ ค.

หนัก, ควรคารวะ, น่าเคารพ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

คุรุ ป.

ครุ, อาจารย์ (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ครุ

หนัก, น้ำหนักบรรทุก, สำคัญ, ควรยกย่อง, ที่มีค่าหรือตีราคาสูง, ติดตาม, เคารพ, นับถือ, ได้รับการยกย่อง, ได้รับเกียรติ, ได้รับสัมภาระ, คนที่ควรนับถือ, ครู (บาลี-อังกฤษ)

คุรุ (แบบรุ่นหลังของ ครุ. สัน. คุรุ)

ควรเคารพ, พึงเคารพ (บาลี-อังกฤษ)

ครุการ

การยกย่อง, ความเคารพ, การให้เกียรติ (บาลี-อังกฤษ)

ครุกรรม

กรรมหนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ในฝ่ายอกุศล ได้แก่ อนันตริยกรรม กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน (ประมวลศัพท์)

ครุภัณฑ์

ของหนัก เช่น กุฎี ที่ดิน เตียง ตั่ง เป็นต้น; คู่กับ ลหุภัณฑ์ (ประมวลศัพท์)

ครุภัณฑ์

  [คะรุพัน] น. ของที่ใช้ทนทาน เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้.

ครู ๑

  [คฺรู] น. ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์. (ป. ครุ, คุรุ; ส. คุรุ).

ครู ๒

  [คะรู] (โหร) น. ชื่อยาม ๑ ใน ๘ ยามในเวลากลางวัน. (ดู ยาม).

ครุ ๑

  [คฺรุ] น. ภาชนะสานชนิดหนึ่ง รูปกลม ๆ เหมือนกะลาตัด ยาชัน มีหูหิ้ว ใช้ตักน้ำ.

ครุ ๒

  [คะรุ] ว. หนัก, ใช้ในตําราฉันทลักษณ์ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วยสระเสียงยาวและสระเกินทั้ง ๔ คือ สระอำ ใอ ไอ เอา เช่น ตา ดำ (สระอำถือเป็น ครุ ก็ได้ ลหุ ก็ได้) และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น หัด เรียน ใช้เครื่องหมาย  แทน, คู่กับ ลหุ ซึ่งใช้เครื่องหมาย  แทน. (ป. ครุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง; ส. คุรุ ว่า หนัก; สำคัญ, ควรเคารพ, มีค่าสูง).

ครุ ๓

  [คะรุ] น. ครู. (ป. ครุ, คุรุ, ว่า ครู; ส. คุรุ ว่า ครู).

คุรุ

  น. ผู้สั่งสอน, ครู. (ป., ส.).

คุรุกรรม

  น. กิจหรือหน้าที่แห่งครู.

คุรุวาร

  น. วันครู คือ วันพฤหัสบดี, ชีววาร หรือ พฤหัสปติวาร ก็ว่า.

คุรุศึกษา

  น. การเล่าเรียนวิชาครู.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย