ยโสธร (บาลีวันละคำ 135)
ยโสธร
อ่านว่า ยะ-โส-ทะ-ระ
ภาษาไทยใช้รูปเดียวกันนี้ อ่านว่า ยะ-โส-ทอน
“ยโสธร” ประกอบด้วยคำว่า ยส (ยะ-สะ) + ธร = ยโสธร
“ยส” แปลทับศัพท์ว่า ยศ (ยด) “ธร” แปลว่า “ผู้ทรงไว้” คือ “ผู้มี-”
ยโสธร จึงแปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งยศ” หรือ “ผู้มียศ”
“ยศ” มี 3 ประเภท คือ
1 อิสริยยศ – ความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ และมีสิทธิอำนาจที่ควบมากับตำแหน่งหน้าที่นั้น
2 เกียรติยศ – ความมีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญยกย่องนับถือของคนทั่วไป
3 บริวารยศ ความมีพวกพ้องมาก มีผู้คนคอยเป็นกำลังสนับสนุนมาก
ยส + ธร น่าจะเป็น ยสธร (ยะ-สะ-ทะ-ระ หรือ ยด-สะ-ทอน) แต่คำว่า ยส เป็นศัพท์ในชุดที่เรียกว่า “มโนคณะ” มีคำว่า มน (ใจ) เจต (ใจ) ตม (ความมืด) เตช (เดช, อำนาจ) และ ยส เป็นต้น ศัพท์จำพวกนี้มีลักษณะพิเศษ คือเมื่อเปลี่ยนรูป (แจกวิภัตติ) เป็น มโน เจโต ตโม เตโช ยโส แล้วไปต่อเข้ากับศัพท์อื่น จะคงรูปที่เปลี่ยนนี้ไว้ ดังเช่นคำว่า มน + ธรรม = มโนธรรม เจต + วิมุติ = เจโตวิมุติ ตม + นุท = ตโมนุท (ดวงอาทิตย์) เตช + ชัย = เดโชชัย และ ยส + ธร = ยโสธร
“ผู้มียศ” มักจะวางท่าโอ่อ่าภาคภูมิ อาจทำให้เป็นที่หมั่นไส้ของคนทั้งหลาย จึงถูกเรียกประชดว่า “พวกยโสธร” แล้วกร่อนลงมาเหลือเพียง “ยโส”
ในภาษาไทย คำว่า “ยโส” จึงมีความหมายว่าเย่อหยิ่งเพราะถือตัวว่ามียศ มีปัญญา มีความรู้ มีกําลัง หรือมีทรัพย์เป็นต้น
ปรับความเข้าใจ :
คำที่ยกมาเขียนใน “บาลีวันละคำ” นี้ หากตรงกับชื่อของเมืองใดๆ โปรดเข้าใจว่า มิได้มีความมุ่งหมายที่จะวิเคราะห์ว่าเมืองนั้นได้ชื่อนั้นมาจากภาษาบาลีคำนี้คำนั้น
เมืองนั้นๆ จะได้ชื่อนั้นมาจากไหนย่อมเป็นไปตามหลักฐานหรือเหตุผลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นสำคัญ
“บาลีวันละคำ” เพียงแต่บอกว่าชื่อนั้น ถ้าเป็นภาษาบาลี รูปคำจะเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร หรือกลายรูปกลายเสียงไปตรงกับชื่อเมืองนั้นได้อย่างไร คือพิจารณาในแง่ภาษาเท่านั้น ไม่ใช่แง่ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี
อย่างคำว่า “ยโสธร” อันเป็นชื่อจังหวัดหนึ่งของไทย ก็ไม่ได้บอกว่าชื่อจังหวัดนี้มาจากภาษาบาลีว่า ยส + ธร ในที่นี้บอกแต่เพียงว่า คำที่ออกเสียงว่า ยะ-โส-ทอน ถ้าเป็นภาษาบาลีจะเป็นคำว่าอะไร ส่วนเมืองนี้จะได้ชื่อนี้มาจากเหตุอะไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าสนใจวิชาภูมินามวิทยาก็ไปศึกษาค้นคว้ากันดู ได้ข้อยุติอย่างไรก็เอามาบอกเล่าเป็นความรู้กันต่อไป
บาลีวันละคำ (135)
20-9-55
ยโสธร ค.
ผู้มียศ, ผู้มีชื่อเสียง, ผู้ทรงไว้ซึ่งยศ.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ยส นป.,ป.
ยศ, ชื่อเสียง, เกียรติ, ความรุ่งเรือง.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ยส
ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ยศหรือตำแหน่งสูง (บาลี-อังกฤษ)
ทิพฺพ – ยส
หนึ่งในคุณลักษณะสำคัญ ๑๐ ประการ แห่งความยิ่งใหญ่ คือ
อายุ วรรณะ สุข ยศ อำนาจ และ รูป เสีง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (บาลี-อังกฤษ)
ยศ
ความเป็นใหญ่และความยกย่องนับถือ; ในภาษาไทย มักได้ยินคำว่า เกียรติยศ ซึ่งบางครั้งมาคู่กับ อิสริยยศ และอาจจะมี ปริวารยศ หรือ บริวารยศ มาเข้าชุดด้วย รวมเป็น ยศ ๓ ประเภท (ประมวลศัพท์)
ยศ
[ยด] น. ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. ว. ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส).
ยโส
- เย่อหยิ่งเพราะถือตัวว่ามียศ มีปัญญา มีความรู้ มีกําลัง มีทรัพย์ ฯลฯ.
ยโสธรา
1. เจ้าหญิงศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัญชนะผู้ครองกรุงเทวทหะ เป็นพระมารดาของพระนางสิริมหามายา และพระนางมหาปชาบดีโคตมี
2. อีกชื่อหนึ่งว่า พิมพา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะ เป็นมารดาของพระราหุล ต่อมาออกบวช เรียกชื่อว่า พระภัททากัจจานา (ประมวลศัพท์)
ศัพท์ชื่อมโนคณะ
มน ใจ เตช เดช
อย เหล็ก ปย น้ำนม
อุร อก ยส ยศ
เจต ใจ วจ วาจา
ตป ความร้อน วย วัย
ตม มืด สิร หัว
มโนธรรม มโนภาพ มโนรถ มโนรมย์ มโนกรรม มโนสุจริต
เตโชธาตุ เดโชชัย เดโชพล
เดโช
น. อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).
เดโชชัย
น. ความชนะด้วยอํานาจ. (ป., ส.).
เดโชพล
น. กําลังแห่งอํานาจ. (ป., ส.).
เจโตวิมุติ
[-วิมุด] (แบบ) น. ความหลุดพ้นด้วยอํานาจแห่งจิต เป็นโลกุตรธรรมประการหนึ่ง, คู่กับ ปัญญาวิมุติ. (ป. เจโตวิมุตฺติ).
ตม- ๑, ตโม-
[ตะมะ-] น. ความมืด, ความเศร้าหมอง, ความเขลา. (ป.; ส. ตมสฺ).
ตโมนุท
น. พระอาทิตย์, พระจันทร์. (ส. ตโมนุท ว่า ผู้ขจัดความมืด).
ตโมไพรี
น. ไฟ. (ส. ตโมไพรี ว่า ศัตรูของความมืด).
ตโมหร
น. พระจันทร์. (ส. ตโมหร ว่า ผู้คลายความมืด)
สิโรราบ
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อยhttps://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/347002828726794