สมาส-สนธิ (บาลีวันละคำ 613)
สมาส-สนธิ
(หลักไวยากรณ์เพื่อให้ภาษาอยู่ร่วมกันโดยสันติ)
อ่านว่า สะ-หฺมาด / สน-ทิ
“สมาส” (บาลีอ่านว่า สะ-มา-สะ) แปลว่า การย่อ (an abridgment) การรวมกัน (compound, combination)
“สนธิ” บาลีเป็น “สนฺธิ” (อ่านว่า สัน-ทิ) ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ “การเชื่อมต่อ” แต่ในบาลี “สนฺธิ” ใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) การรวมกัน, การต่อกันเข้า (union, junction)
(2) รอยแยก, รอยแตก, ช่องโหว่, ช่องว่าง (breach, break, hole, chasm)
(3) ข้อต่อ, ชิ้น, เครื่องเกี่ยวโยง (joint, piece, link)
(4) การต่อเนื่องกัน, การรวมกัน (connection, combination)
(5) การต่อที่ทำให้เสียงดีขึ้น (euphonic junction, euphony)
(6) การลงรอยหรือตกลงกัน (agreement)
“สมาส-สนธิ” เป็นศัพท์วิชาการทางไวยากรณ์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายความหมายไว้ดังนี้ –
สมาส :การเอาศัพท์ตั้งแต่ 2 ศัพท์ขึ้นไปมาต่อกันเป็นศัพท์เดียวตามหลักที่ได้มาจากไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต เช่น สุนทร + พจน์ เป็น สุนทรพจน์ รัฐ + ศาสตร์ เป็น รัฐศาสตร์ อุดม + การณ์ เป็น อุดมการณ์
สนธิ : การเอาศัพท์ตั้งแต่ 2 ศัพท์ขึ้นไปมาเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกันตามหลักที่ได้มาจากไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต เช่น พจน + อนุกรม เป็น พจนานุกรม ราช + อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์ นว + อรห + อาทิ + คุณ เป็น นวารหาทิคุณ
สมาส กับ สนธิ ต่างกันอย่างไร ?
นักเรียนไวยากรณ์มีสูตรง่ายๆ สำหรับจำว่า “สมาสชน สนธิเชื่อม”
จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า “สมาส” เป็นแต่เอาคำมาชนกันไว้เฉยๆ แต่ “สนธิ” เอาคำมาเชื่อมเป็นคำเดียวกัน
“สมาส-สนธิ” มีกฎเกณฑ์และแง่คิดที่ซับซ้อนมากกว่าที่เข้าใจกัน เช่น –
1. “สมาส” ไทยถือว่าเอาคำมาชนกันเฉยๆ แต่บาลีถือว่า คำสมาสก็เป็นคำเชื่อมกัน = การทำคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปให้กลายเป็นคำเดียวกันนั่นเองคือหน้าที่ของสมาส
2. ไวยากรณ์บาลีถือว่าสมาสก็คือสนธิแบบหนึ่ง และในทำนองเดียวกัน สนธิไทย เช่น พจน + อนุกรม = พจนานุกรม แต่ถ้าเขียนเป็น “พจนอนุกรม” ก็คือสมาสนั่นเอง
3. “สนธิ” ไทยถือว่าคำที่เชื่อมกันแล้วเป็นคำเดียวกัน แต่คำที่สนธิกันในบาลีไม่ใช่เป็นคำเดียวกันเสมอไป (ในภาษาบาลีจะพบคำเป็นอันมากที่สนธิกัน แต่เป็นคนละคำกัน)
: สนธิเพื่อวงศ์ญาติ สมาสเพื่อประโยชน์ส่วนตน > ผู้คนนินทา
: สนธิเพื่อชาติ สมาสเพื่อมวลชน > ผู้คนโมทนา
——————-
(ตามคำชี้แนะของพระคุณท่าน Sunant Pramaha)
19-1-57