ยุตฺติ (บาลีวันละคำ 146)
ยุตฺติ
อ่านว่า ยุด-ติ
ภาษาไทยใช้ว่า “ยุติ” (ต ตัวเดียว) อ่านว่า ยุด-ติ เหมือนกัน
คำว่า “ยุติ” ในภาษาไทย เราเข้าใจกันว่าหมายถึง-จบ, เลิก, ไม่ทำต่อไปอีก เช่น “เรื่องนี้ยุติแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีก” “กรรมการยุติการชก”
แต่ในภาษาบาลี “ยุตฺติ” ไม่ได้แปลว่า จบ หรือเลิกกันไป แต่มีความหมายหลักว่า “ความเหมาะสม” ในด้านต่างๆ เช่น –
1. การประยุกต์ = ปรับใช้ให้เหมาะสม
2. ความเป็นธรรม, ความถูกต้อง = เหมาะสมกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
3. การแปลความที่ถูกต้อง, ความถูกต้องแห่งความหมาย (ใช้ในทางตรรกศาสตร์) = ตีความได้เหมาะสม
4. กลอุบาย, วิธีกระทำ, การปฏิบัติ = ทำและใช้ให้เหมาะสมจนเกิดผลสัมฤทธิ์
คำว่า “ยุติธรรม” เราก็เอาคำว่า “ยุติ” ในความหมายที่สองมาใช้ กล่าวคือ “กระบวนการทำผู้มีสิทธิ์ไม่ให้เสียสิทธิ์ และทำผู้ไม่มีสิทธิ์ไม่ให้ได้สิทธิ์” หมายถึงความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล
เหตุที่ “ยุติ” ถูกใช้ในความหมายว่า “จบ, เลิก” น่าจะเป็นเพราะเมื่อสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นถูกดำเนินการให้เกิด “ความเหมาะสม” แล้วก็เป็นที่พอใจ เมื่อพอใจก็ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป ก็คือ จบ
ข้อเสนอ : “ยุติ” ออกเสียงพยางค์ท้ายเบาๆ จะคล้ายกับคำว่า “หยุด”
บางท่านจึงบอกว่า “หยุด” มาจากคำว่า “ยุติ”
บาลีวันละคำ (146)
1-10-55
ยุตฺติ (บาลี-อังกฤษ)
(เทียบ เวท. ยุกฺติ จาก ยุชฺ) ความเหมาะสม คือ (“fitting,” i. e.) –
1. การประยุกต์, การใช้ application, use
2. ความเหมาะสม fitness
3. (ตรรกศาสตร์) ความเหมาะสม, การแปลความที่ถูกต้อง, ความถูกต้องแห่งความหมาย (logical) fitness, right construction, correctness of meaning
4. กลอุบาย, วิธีกระทำ, การปฏิบัติ trick, device, practice
ยุตฺติ อิต.
การประกอบ, ความถูกต้อง, ความชอบ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ยุติ- ๑
[ยุดติ-] ก. ชอบ, ถูกต้อง. (ป. ยุตฺติ; ส. ยุกฺติ).
ยุติ ๒
[ยุดติ] ก. ตกลง, จบ, เลิก, เช่น เรื่องนี้ยุติแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป.
ยุติธรรม
น. ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล, เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี.ว. เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล, เช่น ราคายุติธรรม กรรมการตัดสินอย่างยุติธรรม.