บาลีวันละคำ

อภินิเวสายะ (บาลีวันละคำ 4,253)

อภินิเวสายะ

ธรรมะระดับปรมัตถ์

อ่านว่า อะ-พิ-นิ-เว-สา-ยะ

อภินิเวสายะ” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “อภินิเวส” อ่านว่า อะ-พิ-นิ-เว-สะ ประกอบด้วย อภิ + นิเวส 

(๑) “อภิ” 

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(๒) “นิเวส

บาลีอ่านว่า นิ-เว-สะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + วิสฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ วิ-(สฺ) เป็น เอ (วิสฺ > เวส)

: นิ + วิสฺ = นิวิสฺ + = นิวิสณ > นิวิส > นิเวส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อยู่อาศัย” หมายถึง การเข้าไป, การหยุดพัก, การตั้งหลักแหล่ง; บ้าน, นิเวศน์ (entering, stopping, settling down; house, abode)

อภิ + นิเวส = อภินิเวส (อะ-พิ-นิ-เว-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปอยู่อย่างยิ่ง” หมายถึง ความยึดมั่น (settling in)

อภินิเวส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม หมายถึง ความปรารถนา, ความเอนเอียง, ความโน้มเอียง, ความยึดเหนี่ยว (wishing for, tendency towards (-), inclination, adherence)

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ชอบหรือรัก, เคยตัว หรือสมัครใจ (liking, loving, being given or inclined to) 

อภินิเวส” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อภินิเวสาย” (อะ-พิ-นิ-เว-สา-ยะ) เขียนแบบคำไทยเป็น “อภินิเวสายะ

อภิปรายขยายความ :

อภินิเวสาย > อภินิเวสายะ” ตัดมาจากข้อความเต็มว่า –

สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย

(สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)

ที่มา: จูฬตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 434

แปลยกศัพท์ :

สพฺเพ ธมฺมา = ธรรมทั้งหลายทั้งปวง

นาลํ ( [ไม่] + อลํ [ควร] = นาลํ) = ไม่ควร

อภินิเวสาย = เพื่อการยึดมั่น

(อภินิเวสาย แจกด้วยจตุตถีวิภัตติ มีคำเชื่อมว่า แก่, เพื่อ, ต่อ)

แปลโดยอรรถ (แปลเอาความ) :

สภาพทั้งปวงไม่ควรที่จะยึดมั่นถือมั่น 

ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง

…………..

คำสอนข้อนี้เป็นคำสอนให้เข้าใจโลกและทำใจกับโลกให้ถูกต้อง

ไม่ได้สอนให้ปล่อยปละละเลย วางเฉย-ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่

ที่ต้องเข้าใจก็คือ ยึดมั่นหรือไม่ยึดมั่นเป็นอาการทางใจ 

ยึดมั่น-เป็นอาการปกติของคนทั่วไปอยู่แล้ว 

แต่ไม่ยึดมั่น-เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เป็นงานทางใจ

การไม่ยึดมั่นเป็นคนละเรื่องกับเห็นปัญหาแล้วคิดหาทางแก้ปัญหา

เห็นปัญหา ศึกษาปัญหา แล้วหาทางแก้ปัญหา นี่เป็นงานที่ต้องทำ

ทำพร้อมไปกับการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง

เทียบง่าย ๆ กับ-เกิดมาแล้วต้องตาย 

เกิดมาแล้วต้องตาย-นี่เป็นความจริง ต้องเข้าใจและยอมรับ

แต่ในระหว่างที่ยังไม่ตายต้องทำอะไร นี่คืองานที่ต้องทำ

เวลามีเรื่องราวหรือมีปัญหา เช่น ใครทำอะไรผิดเพี้ยนเปลี่ยนผันไปจากหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น หรือปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเมื่อเห็นอะไรที่ควรจะรักษาไว้ให้อยู่ยั่งยืนต่อไป แต่กลับมาถูกทำลายลง แล้วมีใครลุกขึ้นมาแสดงความเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นต้น

ก็มักจะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาบอกว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น (สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)

บอกเสร็จก็รู้สึกคล้าย ๆ กับว่าท่านได้ทำหน้าที่อันสำคัญสำเร็จเรียบร้อยแล้ว หรือได้แก้ปัญหานั้น ๆ สำเร็จแล้ว

ฟังเผิน ๆ ดูดี – ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น 

แต่ถ้าพินิจดูให้ดี เมื่อมีกรณีเช่นนั้นแล้วพูดแบบนี้ น่าจะไม่เป็นผลดีเท่าไร

อาจทำให้คนเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างผิด ๆ ได้ง่ายมาก

เมื่อเกิดปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไข แต่มีคนออกมาบอกว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ก็คือออกมาบอกว่า ปล่อยให้มันเป็นไปแบบนั้นแหละ ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรหรอก

ถ้าไม่ได้มีเจตนาจะให้เข้าใจแบบนี้ แล้วจะให้เข้าใจแบบไหน 

คนพูดเคยคิดบ้างไหม-ถึงความหมายของคำที่ชอบพูดนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ท่องได้พูดได้ ดี

: ทำได้ด้วย ดีที่สุด

#บาลีวันละคำ (4,253)

3-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *