บาลีวันละคำ

สาสน (บาลีวันละคำ 153)

สาสน

อ่านว่า สา-สะ-นะ

“สาสน” มีรากศัพท์มาจาก “สาส” ธาตุ ในความหมายว่า “สั่งสอน” และ “สสฺ” ธาตุ ในความหมายว่า “เบียดเบียน”

แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก” (3) “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”

คำว่า “สาสน” มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ

1. คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา”

2. คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

3. ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

ความหมายที่ 3 นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า “สาส์น” คือ “จดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ”

(เขียน/อ่าน : สาส์น = สาน, สาสน = สาน, สาสน์ = สาด)

– ถ้าเป็นจดหมายของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระราชสาส์น, เขียนเป็น พระราชสาสน หรือ พระราชสาสน์ ก็ได้

– ถ้าเป็นจดหมายของประธานาธิบดี เรียกว่า อักษรสาส์น, เขียนเป็น อักษรสาสน หรือ อักษรสาสน์ ก็ได้

– ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า สมณสาสน์

– ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เรียกว่า พระสมณสาสน์

ความรู้เฉพาะ (แต่อย่าทะเลาะกับ พจน.) :

ในภาษาบาลี ชาวบ้านธรรมดาส่งข่าวถึงกัน ก็ใช้คำว่า “สาสน”

บาลีวันละคำ (153)

8-10-55

สาสน = ศาสนา, คำสั่ง, คำสั่งสอน

สาสิยเตติ สาสนํ คำอันท่านสั่งสอน

สาส ธาตุ ในความหมายว่าสั่งสอน ยุ ปัจจัย

สาสติ สเทวกํ โลกํ อเนนาติ สาสนํ คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

สาสติ กิเลเสติ สาสนํ คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

สสฺ ธาตุ ในความหมายว่าเบียดเบียน ยุ ปัจจัย

(ศัพท์วิเคราะห์)

สาสน (บาลี-อังกฤษ)

คำสั่ง, ข่าวสาสน์, คำสอน order, message, teaching

สุสาสน – ทุสฺสาสน คำสอนที่แท้และไม่แท้, ข่าวดีและเลว

สาสน นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

คำสอน, คำสั่งสอน; ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถือย่างหนึ่งๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิพิธี องค์การ และกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้นๆ ทั้งหมด

ศาสนา (ประมวลศัพท์)

คำสอน, คำสั่งสอน; ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถืออย่างหนึ่งๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิ พิธี องค์การ และกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้นๆ ทั้งหมด

สาสน, สาสน-, สาสน์, สาส์น

  [สาน, สาสะนะ-, สาดสะนะ-, สาด, สาน] น. คําสั่ง, คําสั่งสอน, เช่น สาสนธรรม; จดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ, ถ้าเป็นจดหมายของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระราชสาส์น, เขียนเป็น พระราชสาสน หรือ พระราชสาสน์ ก็ได้, ถ้าเป็นจดหมายของประธานาธิบดี เรียกว่า อักษรสาส์น, เขียนเป็น อักษรสาสน หรือ อักษรสาสน์ ก็ได้, ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า สมณสาสน์, ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เรียกว่า พระสมณสาสน์. (ป.).

สาสนธรรม

  น. คําสั่งสอนทางศาสนา.

สาสนา

  [สาดสะหฺนา] น. ศาสนา, คําสั่งสอนของศาสดา. (ป. สาสน; ส. ศาสน).

ศาสน-, ศาสนา

  [สาสะนะ-, สาดสะนะ-, สาดสะหฺนา] น. ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คําสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย