บาลีวันละคำ

ทารุณกรรม (บาลีวันละคำ 965)

ทารุณกรรม

อ่านว่า ทา-รุน-นะ-กํา

ประกอบด้วย ทารุณ + กรรม

ทารุณ” บาลีอ่านว่า ทา-รุ-นะ รากศัพท์มาจาก ทรฺ (ธาตุ = ผ่า, ทำลาย) + อุณ ปัจจัย, ยืดเสียง อะ ที่ – เป็น อา

: ทรฺ + อุณ = ทรุณ > ทารุณ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันคนกลัว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกรากศัพท์ของ “ทารุณ” ว่ามาจาก “ทารุ” ซึ่งแปลว่าต้นไม้ “ทารุณ” จึงแปลตามศัพท์ว่า “strong as a tree” (“แข็งแรงเหมือนต้นไม้”)

ทารุณ” หมายถึง :

(1) แข็งแรง, มั่นคง, หนัก (strong, firm, severe)

(2) รุนแรง, ดุร้าย, ไม่มีความเมตตาสงสาร (harsh, cruel, pitiless)

ทารุณ” ในภาษาไทยมักเข้าใจกันตามความหมายในข้อ (2)

ทารุณ + กรรม (การกระทำ) = ทารุณกรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ทารุณ, ทารุณ– : (คำวิเศษณ์) ดุร้าย, โหดร้าย, ร้ายกาจ. (ป., ส.).

(2) ทารุณกรรม : (คำนาม) การกระทําอย่างโหดร้าย. (ส.).

———-

ภาพประกอบบาลีวันละคำวันนี้เป็นชื่อพระราชบัญญัติ :

“พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗”

มีผู้แสดงความเห็นว่า “ทารุณกรรม” แปลว่า “การกระทําอย่างโหดร้าย” มีคำว่า “การกระทำ” อยู่แล้ว คำว่า “การทารุณกรรม” ก็ต้องแปลว่า “การการกระทําอย่างโหดร้าย” จึงน่าจะไม่ถูกต้อง คือน่าจะเป็นการใช้คำซ้ำซ้อน

ความหมายและหน้าที่ของ “การ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน,

(2) ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง,

(3) ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

ความเห็นเบื้องต้น (ซึ่งสามารถโต้แย้งได้ทุกประการ) :

(๑) ในที่นี้ “ทารุณกรรม” เป็นคำนาม การใช้ “การ” หน้าคำ “ทารุณกรรม” เข้าในหลักข้อ (2) ตาม พจน.

(๒) แต่เมื่อดูความหมาย ( = เรื่อง, ธุระ, หน้าที่) ก็ไม่เข้ากัน :

– พระราชบัญญัติป้องกันเรื่องทารุณกรรม

(พอฟังได้ แต่ทำไมไม่ใช้คำว่า “เรื่อง” ตรงๆ)

– พระราชบัญญัติป้องกันธุระทารุณกรรม

– พระราชบัญญัติป้องกันหน้าที่ทารุณกรรม

(๓) ตัวอย่างคำที่เติม “การ” ข้างหน้า ที่ พจน.ให้ไว้เป็นคำไทย เติม “การ” แล้วได้ความ แต่ “ทารุณกรรม” เป็นคำบาลี มีคำแปลว่า “การ-” อยู่แล้ว เมื่อเติม “การ” เข้าไปอีกจึงเข้าข่ายซ้ำซ้อน

(๔) คำที่มีทั้ง “การ-” มีทั้ง “-กรรม” ทำนองเดียวกันนี้ยังมีอีก เช่น “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม” (นิรโทษกรรม = การลบล้างการกระทําความผิด) ซึ่งฟังกันเพลินๆ ไปก็ดูเหมือนจะใช้ได้ แต่น่าจะไม่ถูกตามหลักภาษา

(๕) ชื่อพระราชบัญญัติข้างต้น ถ้าใช้ว่า “พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณ…” หรือ “พระราชบัญญัติป้องกันทารุณกรรม…” น่าจะไม่เกิดปัญหาทางภาษา

: การไม่การุญ คือการทารุณชนิดหนึ่ง

—————

(ตามข้อสงสัยของ Usanee Nee)

#บาลีวันละคำ (965)

8-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *