อนตฺตา (บาลีวันละคำ 152)
อนตฺตา
เขียนแบบไทยว่า “อนัตตา” อ่านว่า อะ-นัด-ตา
“อนตฺตา” มาจาก น + อตฺตา = อนตฺตา
“อตฺตา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)
น > อน + อตฺตา = อนตฺตา > อนัตตา จึงแปลว่า “ไม่ใช่ตน” หรือ “ไม่มีตน” (not-self or soulless)
“อนัตตา” เป็นข้อหนึ่งในกฎ “ธรรมนิยาม” หรือ “ไตรลักษณ์” กฎประจำโลก 3 อย่าง คือ –
1. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง — all conditioned states are impermanent)
2. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา (สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ — all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering)
3. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตน — all states are not-self or soulless)
ในพระคาถามงคลจักรวาลแปดทิศ ที่เผยแพร่กันทั่วไปนั้นมีคำสวดว่า อิมัสมิง มงคลจักรวาฬทั้งแปดทิศ ประสิทธิ จงมาเป็นกำแพงแก้วทั้งเจ็ดชั้น มาป้องกันห้อมล้อมรอบคอบ “ทั่วอนัตตา” ราชะเสมาณาเขตเต …
“ทั่วอนัตตา” คำที่ถูกคือ “ทั่วอนันต-” … (อนันต์ = ไม่มีที่สิ้นสุด, มากมาย)
ต้นฉบับเดิมพิมพ์ผิด พิมพ์ “อนันต” เป็น “อนัตตา” แล้วก็ไม่มีใครแก้ ปล่อยให้ผิดอยู่อย่างนั้น เป็นเหตุให้สวดผิดกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองอยู่จนทุกวันนี้
บาลีวันละคำ (152)
7-10-55
[76] ไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3 ประการ แห่งสังขารธรรมทั้งหลาย — the Three Characteristics)
1. อนิจจตา (ความเป็นของไม่เที่ยง — impermanence; transiency)
2. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์ — state of suffering or being oppressed)
3. อนัตตตา (ความเป็นของไม่ใช่ตน — soullessness; not-self)
[86] ธรรมนิยาม 3 (กำหนดแห่งธรรมดา, ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law)
1. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง — all conditioned states are impermanent)
2. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ — all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering)
3. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารทั้งปวงไม่ใช่ตน — all states are not-self or soulless)
หลักความจริงนี้ แสดงให้เห็นลักษณะ 3 อย่าง ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ของสภาวธรรมทั้งหลาย (ดู [76] ไตรลักษณ์) พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนย.