สมดึงสบารมี (บาลีวันละคำ 3,246)
สมดึงสบารมี
“บารมี 30 ทัศ”
อ่านว่า สะ-มะ-ดึง-สะ-บา-ระ-มี หรือ สม-มะ-ดึง-สะ-บา-ระ-มี
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมาร สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความตอนหนึ่งว่า –
…………..
อสฺสโม อันว่าพระอาศรมบรมนิเวศน์วงกต
เป็นที่เจริญพรตพรหมวิหาร
แสนสนุกรมณิยรโหฐานทิพพาวาส
ดังชะลอบัณฑุกัมพลศิลาลาดมาลอยลง
สี่กษัตริย์เสด็จดํารงสํารวมกิจ
ถือเพศผนวชเป็นนักสิทธิ์สืบโบราณ
โดยอุปนิสัยสมภารหน่อพุทธางกูร
ท้าวเธอสู้เสียสละละซึ่งมไหศูรย์สวรรยางค์
ออกมาก่อสร้างซึ่งพระสมดึงสบารมี
น้ำพระทัยท้าวเธอโปร่งเปรมปรีดิ์ปราโมทย์
…………..
คำว่า “สมดึงสบารมี” ยกมาจากข้อความตอนนี้ แยกศัพท์เป็น สม + ดึงส + บารมี
(๑) “สม”
บาลีอ่านว่า สะ-มะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + อ (อะ) ปัจจัย
: สมฺ + อ = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” (คืออยู่เคียงคู่กัน)
“สม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)
(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)
(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)
(๒) “ดึงส”
บาลีเป็น “ตึส” อ่านว่า ติง-สะ เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำบอกจำนวน (number) แปลว่า สามสิบ (จำนวน 30)
บาลี “ตึส” เขียนแบบไทยเป็น “ติงส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ติงส-, ติงสติ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) สามสิบ, ใช้ว่า ดึงส์ ในคำว่า ดาวดึงส์. (ป. ตึส, ตึสติ).”
หมายเหตุ : “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
“ติงส-” พจนานุกรมฯ บอกว่า ใช้ว่า “ดึงส์ ในคำว่า ดาวดึงส์” ตามไปดูพบว่า พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ดึงสะ” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“ดึงสะ : (คำวิเศษณ์) สามสิบ. (ป. ตึส; ส. ตฺรึศตฺ).”
สรุปว่า ตึส > ติงส– > ดึงสะ > ดึงส์ แปลว่า สามสิบ
ในที่นี้ “ดึงสะ” อยู่กลางคำ จึงเขียนเป็น –ดึงส–
(๓) “บารมี”
บาลีเป็น “ปารมี” อ่านว่า ปา-ระ-มี
ความหมายที่เด่นของ “ปารมี” คือ “ภาวะที่ทำให้เต็ม” แต่ “ปารมี” ยังมีคำแปลตามศัพท์อีกหลายความหมาย คือ –
(1) ภาวะหรือการกระทำของผู้ประเสริฐ
(2) ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุด
(3) ข้อปฏิบัติที่หมดจดอย่างยิ่งจากมลทินคือสังกิเลส
(4) ข้อปฏิบัติที่รู้ถึงโลกหน้าได้ด้วยญาณวิเศษเหมือนรู้โลกนี้
(5) ข้อปฏิบัติที่ใส่กลุ่มความดีมีศีลเป็นต้นไว้ในสันดานตนอย่างดียิ่ง
(6) ข้อปฏิบัติของผู้เบียดเบียนศัตรูคือหมู่โจรกิเลส
(7) ข้อปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่พระนิพพานและยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน
ในบาลี “ปารมี” หมายถึงคุณธรรมที่ยังความเป็นพระพุทธเจ้าให้สำเร็จ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้สมบูรณ์เพียบพร้อมจึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปารมี” ว่า completeness, perfection, highest state (ความสมบูรณ์, ความเต็มเปี่ยม, สถานะอันสูงสุด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บารมี : (คำนาม) คุณความดีที่ควรบําเพ็ญมี ๑๐ อย่าง คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ (การออกจากกาม คือ บวช) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา เรียกว่า ทศบารมี; คุณความดีที่ได้บําเพ็ญมา, คุณสมบัติที่ทําให้ยิ่งใหญ่, เช่นว่า ชมพระบารมี พระบารมีปกเกล้าฯ พ่ายแพ้แก่บารมี. (ป. ปารมี).”
การประสมคำ :
(๑) สม + ตึส = สมตึส (สะ-มะ-ติง-สะ) แปลว่า “สามสิบเสมอ” หมายถึง จำนวนสามสิบเต็มหรือสามสิบถ้วน ไม่ขาดไม่เกิน เขียนแบบไทยเป็น “สมดึงส-” (สะ-มะ-ดึง-สะ- หรือ สม-มะ-ดึง-สะ-)
(๒) สมตึส + ปารมี = สมตึสปารมี (สะ-มะ-ติง-สะ-ปา-ระ-มี) แปลว่า “บารมีสามสิบเสมอ” หมายถึง บารมีสามสิบถ้วน เขียนแบบไทยเป็น “สมดึงสบารมี” (สะ-มะ-ดึง-สะ-บา-ระ-มี หรือ สม-มะ-ดึง-สะ-บา-ระ-มี)
ขยายความ :
คุณธรรมชุดใหญ่ที่จัดว่าเป็น “บารมี” ที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามี 10 อย่าง คือ –
1 ทาน : สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
2 ศีล : ควบคุมการกระทำและคำพูดให้ตั้งอยู่ในความดีงาม
3 เนกขัมมะ : การออกบวช, ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน
4 ปัญญา : ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล
5 วิริยะ : ความพยายามทำกิจไม่ท้อถอย
6 ขันติ : ความหนักเอาเบาสู้เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม
7 สัจจะ : ความจริง คือ จริงใจ จริงวาจา และจริงการ
8 อธิษฐาน : ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน
9 เมตตา : ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข
10 อุเบกขา : ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง
บารมีทั้ง 10 แบ่งระดับการบำเพ็ญเป็น 3 ระดับ ตามความเข้มข้น
อธิบายประกอบด้วยบารมีข้อแรก คือ ทาน
1 ระดับบารมี : บารมีระดับปกติธรรมดา คนทั่วไปทำได้
ตัวอย่าง ทานบารมี : สละของนอกกาย เช่น วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง สิทธิผลประโยชน์ และแม้ตำแหน่งหน้าที่
2 ระดับอุปบารมี : บารมีขั้นกลาง หรือจวนสูงสุด
ตัวอย่าง ทานอุปบารมี : สละให้อวัยวะในตัว เช่น บริจาคดวงตา ตับ ไต ปอด (หมายถึงต้องให้อวัยวะนั้นๆ ไปทั้งที่ตนยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ให้เมื่อตายแล้ว)
3 ระดับปรมัตถบารมี : บารมีขั้นสูงสุด, บารมีที่ทำจนถึงที่สุดเพื่อผลขั้นสูงสุด
ตัวอย่าง ทานปรมัตถบารมี : สละชีวิต แม้จะต้องตายก็ยอมด้วยความเต็มใจ
บารมีข้ออื่นๆ ก็ใช้ (1) ของนอกกาย (2) อวัยวะ (3) ชีวิต เป็นเกณฑ์วัดเช่นกัน
บารมีทั้ง 10 แบ่งระดับการบำเพ็ญเป็น 3 ระดับ คือ ระดับบารมี ระดับอุปบารมี ระดับปรมัตถบารมี
บารมี 3 ระดับ ระดับละ 10 จึงเป็นบารมีสามสิบถ้วน เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “สมดึงสบารมี” คำบาลีว่า “สมตึสปารมี”
“สมดึงสบารมี” หรือบารมีสามสิบถ้วนนี้ มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บารมี 30 ทัศ”
คำว่า “ทัศ” ในที่นี้ พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า ครบ, ถ้วน, เช่น บารมี 30 ทัศ
ต่อไปนี้ พอไปเจอคำว่า “สมดึงสบารมี” หรือ “บารมี 30 ทัศ” จะได้นึกถึงที่ไปที่มาได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าทุกคนคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน
จะมีคนคิดถึงประโยชน์ของเราเพียงคนเดียว
: แต่ถ้าทุกคนคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น
จะมีคนเป็นแสนเป็นหมื่นคิดถึงประโยชน์ของเรา
#บาลีวันละคำ (3,246)
2-5-64