บาลีวันละคำ

สิริมงฺคล (บาลีวันละคำ 161)

สิริมงฺคล

อ่านว่า สิ-ริ-มัง-คะ-ละ

คำนี้ใช้ในภาษาไทยว่า “สิริมงคล” อ่านตามไทยนิยมว่า สิ-หริ-มง-คน

“สิริมงคล” เป็นคำบาลีคำหนึ่งที่ติดปากคนไทย และเข้าใจความหมายกันเองว่า “อะไรอย่างหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์” ถ้ามีสิ่งนั้น ถ้าถือแบบโน้น หรือถ้าได้ทำอย่างนี้แล้ว “อะไรอย่างหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์” นั้นจะดลบันดาลให้เกิดความดี ความสุข ความเจริญขึ้นมาโดยที่ผู้มี ผู้ถือ หรือผู้ทำ ไม่ต้องทำอะไรอีก “อะไรอย่างหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์” จะเป็นผู้จัดการให้เป็นไปเช่นนั้นเอง ดังคำที่นิยมพูดกันว่า

“…ควรมีไว้เพื่อเป็นสิริมงคล”

“รดน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล”

หรือแม้กระทั่ง “กินเจเพื่อความเป็นสิริมงคล”

“สิริ” แปลตามรากศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้” (ดูบาลีวันละคำ “สิริธมฺม”)

“มงฺคล” แปลตามรากศัพท์ว่า “เหตุให้ถึงความเจริญ” หรือ “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์”

พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง “สิริมงคล” ไว้ 38 ข้อ เป็นสิริมงคลที่แต่ละคนต้องทำเอาเอง ไม่เกี่ยวกับ “อะไรอย่างหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์” เริ่มข้อแรกที่ “อเสวนา จ พาลานํ = ไม่คบคนชั่ว”

: คบกันทาง FB เป็นเพื่อนที่ดีให้เพื่อนนะ

บาลีวันละคำ (161)

16-10-55

สิริ = ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล เช่น มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม เช่น ทรงมีพระสิริโฉม

ศรี = มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, ความมีเดช, โชค

สิริ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ศรี, โชค.

กตปุญฺเญหิ เสวียเตติ สิริ สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้ซ่องเสพ

สิ ธาตุ ในความหมายว่าเสพ คบหา, ร ปัจจัย, อิ อิตถีลิงค์

กตปุญฺญปุคฺคเล  นิสฺสิยตีติ สิริ สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

สิ ธาตุ ในความหมายว่าอาศัย, ร ปัจจัย, อิ อิตถีลิงค์

สิริ

ศรี, โชค

สิริมนฺตุ (บาลี-อังกฤษ)

มีสิริ glorious

สิริ (บาลี-อังกฤษ)

ความสวยสดงดงาม, ความสวยงาม

โชค,ศรี, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง

Glorious

เทพธิดาแห่งโชคลาภ

ห้องบรรทม (สิริคพฺภ สิริสยน)

สิริ ๑

  ก. ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน ๑๕๐ ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ ๗๒ ปี.

สิริ ๒, สิรี

  น. ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. (ป.; ส. ศฺรี).

ศรี ๑

  [สี] น. มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง, ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (ส. ศฺรี; ป. สิริ, สิรี).

ศรี ๒

  [สี] น. พลู. (ม.); (ราชา) หมากพลู เรียกว่า พระศรี.

ศรี ๓

  [สี] น. ผู้หญิง. (ข. สี).

ศรี ๔

  [สี] (กลอน) น. ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี. (อภัย).

มงฺคล = ความเจริญ, เหตุให้ถึงความเจริญ ฯลฯ

– มงฺคติ ธญฺญนฺติ มงฺคลํ เหตุที่ถึงความเจริญ

มคิ ธาตุ ในความหมายว่าถึง, ไป, เป็นไป นิคหิตอาคม อล ปัจจัย

– มงฺคนฺติ สตฺตา เอเตน สุทฺธึ คจฺฉนฺตีติ มงฺคลํ เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์

(ศัพท์วิเคราะห์)

มงฺคล นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี) (ประมวลศัพท์)

มงคล, สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรม ที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ, มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุด) ๓๘ ประการ

มงฺคล (บาลี-อังกฤษ)

มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง, งานรื่นเริง, ลางดี

มงคล, มงคล-

  [มงคน, มงคนละ-] น. เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล ๓๘, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย, เรียกงานที่จัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด ว่า งานมงคล; เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล; สิ่งที่ทำเป็นวงด้วยด้ายเป็นต้นสำหรับสวมศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล นิยมใช้เฉพาะในเวลาชกมวยไทยหรือตีกระบี่กระบอง. (ป., ส.).

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย