บาลีวันละคำ

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ (บาลีวันละคำ 209)

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ

อ่านว่า นิบ-พา-นะ-ปัด-จะ-โย / โห-ตุ

ประกอบด้วย นิพฺพาน + ปจฺจโย = นิพฺพานปจฺจโย คำหนึ่ง และ โหตุ อีกคำหนึ่ง

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” แปลว่า “จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน” = ขอความดีที่ได้บำเพ็ญนี้จงเป็นเหตุสนับสนุนให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน

เป็นประโยคภาษาบาลีที่ติดปากคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งและกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญเสร็จแล้ว ก็จะกล่าวข้อความนี้เป็นการอธิษฐาน หรือตั้งความปรารถนา ข้อความเต็มๆ ที่เคยได้ยินกล่าวกัน มีว่า –

นิพฺพานปจฺจโย  โหตุ  เม  อนาคเต  กาเล

มีความหมายว่า ขอความดีที่ได้บำเพ็ญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าบรรลุพระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ

เป็นการตั้งความปรารถนาที่สูงส่ง ตรงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา และถือว่าเป็นอุดมคติของชาวพุทธที่ทำความดีเพื่อผลสูงสุดนี้ ผลอื่นๆ เป็นเรื่องรองลงมา

โปรดสังเกตว่า แม้จะปรารถนาสิ่งสูงสุด แต่ก็มิใช่ในชาติปัจจุบัน หากแต่ “ในอนาคตกาลโน้นเทอญ” เป็นการตั้งความปรารถนาแบบเจียมตัวและรู้ประมาณศักยภาพของตัวเอง แต่กระนั้นก็ไม่ละทิ้งความพยายาม ด้วยตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน

ประโยคนี้มี 2 คำเท่านั้น คือ “นิพฺพานปจฺจโย” คำหนึ่ง และ “โหตุ” อีกคำหนึ่ง

ไม่ใช่ “นิพพาน นะ” หรือ “นะปัจจัยโย” ดังที่มักพูดติดปากกัน

ระวังอย่าพูดผิดเขียนผิดเป็นอย่างอื่น

: พูดผิดเขียนผิด ก็ไปนิพพานได้

: แต่ไปนิพพานได้ด้วย และพูดถูกเขียนถูกด้วย ดีกว่า

บาลีวันละคำ (209)

3-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย