พิภพ (บาลีวันละคำ 162)
พิภพ
บาลีคำนี้เขียนแบบไทย อ่านว่า พิ-พบ
“พิภพ” คำบาลีเป็น “วิภว” อ่านว่า วิ-พะ-วะ
แปลง ว เป็น พ = วิภว = พิภพ (แบบเดียวกับ วิเคราะห์-พิเคราะห์, วิจารณ์-พิจารณ์, วิเศษ-พิเศษ)
ในภาษาไทย คำว่า “พิภพ” มักจะเข้าใจกันในความหมายว่า “โลก” เช่น พื้นพิภพ, นอกพิภพ, พิภพวานร, ที่อยู่ของนาคในชั้นบาดาล เรียกว่า นาคพิภพ
ในภาษาบาลี “วิภว” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
1. ความไม่มี, ความไม่ทรงอยู่, ความเสื่อม, ความสิ้นสุดแห่งชีวิต, การดับสูญ (ความหมายนี้แปลตามรากศัพท์ว่า “ภาวะที่ปราศจากความมี” หรือ “ภาวะที่ไม่มี”)
2. อำนาจ, ความมั่งคั่ง, ทรัพย์สมบัติ, ความรุ่งเรือง, ความเจริญ
ในภาษาบาลี “วิภว” ไม่ได้มีความหมายถึง “โลก” เหมือน “พิภพ” ในภาษาไทย และ “พิภพ” ในภาษาไทยก็ไม่ได้หมายถึงความไม่มี, ความไม่ทรงอยู่ หรืออำนาจ, ความมั่งคั่ง อย่างในภาษาบาลี
แต่ “พิภพ” ตามรูปศัพท์แล้ว มาจาก “วิภว” แน่นอน
คำบางคำ : มาแต่ตัว แต่ความหมายไม่ได้มาด้วย
คนบางคน : ได้ตัวเขาไว้ แต่ไม่ได้หัวใจเขาด้วย
บาลีวันละคำ (162)
17-10-55
วิภว ความไม่มี, ความเสื่อม
– วิคโต ภโว วิภโว ภาวะที่ปราศจากความมี (วิคต + ภว)
– วิภวิสฺสติ (วิภวติ ?) วินสฺสติ อุจฺเฉชฺชตีติ วิภโว ภาวะที่ไม่มี
วิ บทหน้า ภู ธาตุ ในความหมายว่ามี, เป็น ณ ปัจจัย พฤทธิ์ อู เป็น โอ แปลง โอ เป็น อว
วิภว (บาลี-อังกฤษ)
1. อำนาจ, ความมั่งคั่ง, ความรุ่งเรือง
2 .ความไม่ทรงอยู่, ความสิ้นสุดแห่งชีวิต, การดับสูญ
วิภว ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความไม่เป็น, สมบัติ, ความเจริญ.
วิภวตัณหา (ประมวลศัพท์)
ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ (ข้อ ๓ ในตัณหา ๓)
วิภว-
[-พะวะ-] น. ความเจริญ; สมบัติ; ความไม่มีไม่เป็น. (ป., ส.).
วิภวตัณหา
น. ความปรารถนาในความไม่มีไม่เป็น. (ป.).
พิภพ
น. โลก เช่น ในพื้นพิภพ นอกพิภพ, ที่อยู่ของนาคในชั้นบาดาล เรียกว่า นาคพิภพ; ทรัพย์สมบัติ เช่น ผ่านพิภพ คือ ครองสมบัติ. (ดู วิภว-).