สานุศิษย์ (บาลีวันละคำ 165)
สานุศิษย์
อ่านว่า สา-นุ-สิด
“สานุศิษย์” เป็นศัพท์พันทาง จะเป็นบาลีก็ผิด เป็นสันสกฤตก็ไม่ถูก เป็นบาลีสันสกฤตแบบไทย
“ศิษย” ในสันสกฤต คือ “สิสฺส” ในบาลี
“สิสฺส – ศิษฺย” แปลตามรากศัพท์ว่า “ผู้ปรารถนาจะศึกษา” หรือ “ผู้อันอาจารย์พึงสั่งสอน”
ถ้าเป็นบาลีล้วน ก็คือ สิสฺส + อนุสิสฺส = สิสฺสานุสิสฺส (สิด-สา-นุ-สิด-สะ)
ถ้าเป็นสันสกฤตล้วน ก็คือ ศิษย + อนุศิษย = ศิษยานุศิษย์ (สิด-สะ-ยา-นุ-สิด)
“สานุศิษย์” ตัดมาจาก (สิสฺ) สานุสิสฺส ของบาลี แต่ “-สิสฺส” ของบาลีเราเขียนแบบสันสกฤตเป็น “-ศิษย”
เอา “สานุ-” ในบาลีมารวมกับ “-ศิษย” ในสันสกฤต = สานุศิษย แล้วก็เป็น “สานุศิษย์” ตามที่ใช้ในภาษาไทย
“สานุศิษย์” แปลว่า ศิษย์น้อยใหญ่ หรือศิษย์ทั้งหลาย
ภาษาไทย เมื่อพูดถึงศิษย์ เรานิยมเรียกว่า “ลูกศิษย์” มีนัยแห่งความหมายว่า เราถือว่าคนที่เป็นศิษย์นั้นเป็น “ลูก” ประเภทหนึ่ง คือ “ลูกในฐานะที่เป็นศิษย์”
คิดต่อไปถึง “ลูก-” อื่นๆ อย่าง –
“ลูกจ้าง” = ลูกในฐานะที่มารับจ้าง
“ลูกน้อง” = ลูกในฐานะที่เป็นน้อง
“สานุศิษย์ – ลูกศิษย์” คิดให้ดี จะเห็นความผูกพันที่ลึกซึ้งในวัฒนธรรมไทย ที่ท่านเอาความรักลูกเข้ามาผูกหัวใจกันไว้
ไม่รัก “ลูก” แล้วจะรักใคร – จริงไหม ?
บาลีวันละคำ (165)
20-10-55
คนที่เราใช้คำว่า “ลูก-” นำหน้ายังมีอีก เช่น
“ลูกจ้าง” = ลูกในฐานะที่มารับจ้างทำงาน
“ลูกน้อง” = ลูกในฐานะที่เป็นน้อง คือบริวารที่อ่อนวัยกว่า
สิสฺส ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ผู้ฟัง, ศิษย์.
สิสฺส = ลูกศิษย์, นักเรียน, นักศึกษา (ศัพท์วิเคราะห์)
– โสตุง อิจฺฉตีติ สิสฺโส ผู้ปรารถนาจะศึกษา
สุ แทน อสฺ ธาตุ ในความหมายว่าฟัง, ศึกษา ส ปัจจัย แปลง อุ เป็น อิ ซ้อน ส
– สุณาตีติ สิสฺโส ผู้ฟัง, ผู้ศึกษา
– อาจริเยหิ สาสิตพฺโพติ สิสฺโส ผู้อันอาจารย์พึงสั่งสอน
สาส ธาตุ ในความหมายว่าสั่งสอน อ ปัจจัย แปลง อา เป็น อิ ซ้อน ส
สานุศิษย์
น. ศิษย์น้อยใหญ่. (กร่อนมาจาก ส. ศิษฺยานุศิษฺย; ป. สิสฺสานุสิสฺส).
ศิษย-, ศิษย์
[สิดสะยะ-, สิด] น. ผู้ศึกษาวิชาความรู้จากครูหรืออาจารย์, คู่กับ ครู หรืออาจารย์, ผู้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของอาจารย์ เช่น ศิษย์วัด, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่ศึกษาหาความรู้จากตำราของผู้ใดผู้หนึ่งแล้วนับถือผู้นั้นเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ของตน. (ส.).
สิสฺส ศิษย์ a pupil (บาลี-อังกฤษ)
ศิษยานุศิษย์
[สิดสะยานุสิด] น. ศิษย์น้อยใหญ่.
พันทาง
น. เรียกไก่ที่พ่อเป็นอู แม่เป็นแจ้ ว่า ไก่พันทาง, ภายหลังเรียกเลยไปถึงสัตว์ที่พ่อแม่ต่างพันธุ์กัน (ยกเว้นปลากัด) จนถึงสิ่งต่างชนิดบางอย่างที่แกมกันหรือไม่เข้าชุดกัน เช่น สุนัขพันทาง เครื่องลายครามพันทาง.