บาลีวันละคำ

เภสชฺช (บาลีวันละคำ 166)

เภสชฺช

อ่านว่า เพ-สัด-ชะ

ภาษาไทยใช้ว่า “เภสัช” อ่านว่า เพ-สัด

ภาษาบาลีคำนี้ไม่มีปัญหาในการเขียน อ่าน และเข้าใจความหมาย แต่มีเรื่องน่ารู้บางประการ –

1- “เภสชฺชเภสัช” รากศัพท์มาจากคำว่า “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) ซึ่งแปลว่า “หมอแพทย์

ภิสช” กระทำกรรมวิธีตามกฎไวยากรณ์แล้วได้รูปเป็น “เภสชฺช” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” = ยารักษาโรค

2- ในปัจจัยสี่ของพระสงฆ์ คือ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม), บิณฑบาต (อาหาร), เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และ เภสัช (ยารักษาโรค) เฉพาะ “เภสัช” มีคำเต็มๆ ว่า “คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาร” แปลว่า “บริขารคือยารักษาโรคอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนป่วย” คงเป็นเพราะยาวนัก ท่านจึงตัดให้เหลือสั้นๆ ว่า “เภสชฺช

3- สิ่งต่อไปนี้ไม่ใช่ “ยารักษาโรค” โดยตรง แต่ท่านเรียกว่า “เภสัช” พระเก็บไว้ฉันได้ 7 วัน มี 5 อย่าง คือ 1 สัปปิ เนยใส 2 นวนีตะ เนยข้น 3 เตละ น้ำมัน 4 มธุ น้ำผึ้ง 5 ผาณิต น้ำอ้อย ส่วนยารักษาโรคโดยตรงนั้นเก็บไว้ฉันได้ตลอดอายุ

4- หมากพลู บุหรี่ ที่ถวายพระ คนเก่าๆ ท่านก็เรียกว่า “เภสัช

ปัจจุบันทางราชการขอร้องไม่ให้จัดบุหรี่ถวายพระในงานพิธี

เพราะ “ยารักษาโรค” บางอย่าง ดูไปแล้วน่ากลัวจะเป็นยาเพิ่มโรคเสียละมากกว่า

บาลีวันละคำ (166)

21-10-55

ภิสช = หมอ, ศัลยแพทย์, เภสัชกร (ศัพท์วิเคราะห์)

– ภิสชฺชติ ติกิจฉตีติ ภิสโช ผู้เยียวยา

ภิสฺ ธาตุ ในความหมายว่าเยียวยา ช ปัจจัย

– วิสฺสชฺเชตีติ ภิสโช ผู้คลี่คลายโรค

วิ บทหน้า สชฺ ธาตุ ในความหมายว่าแจกแจง อ ปัจจัย แปลง วิ เป็น ภิ

เภสชฺช = ยา, โอสถ (ศัพท์วิเคราะห์)

ภิสชานํ อิทํ เภสชฺชํ สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ

ภิสช + ณฺย พฤทธิ์ อิ เป็น เอ แปลง ช กับ ณฺย เป็น ชฺช

เภสชฺช (บาลี-อังกฤษ)

(นปุง.) (เทียบ เวท. ไภษชฺย = เภษช จาก ภิษชฺ ดู บา. ภิสก ด้วย cp. Vedic bhaiṣajya=bheṣaja, fr. bhiṣaj; see also P. bhisakka)

โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา a remedy, medicament, medicine Vin i.278; D ii.266;

เภสชฺชํ กโรติ รักษาด้วยยา to treat with a medicine DhA i.25;

มูล-เภสชฺชานิ เภสัชหลัก, ยาที่สำคัญ the principal medicines Miln 43;

ปญฺจ เภสชฺชานิ เภสัช ๕ อย่าง (ที่ทรงอนุญาตแก่ภิกษุ) the 5 remedies (allowed to bhikkhus) DhA i.5.

เภสชฺช+กปาลก กระปุกยา medicine bowl VbhA 361.

เภสชฺช+สิกฺขาปท สิกขาบทว่าด้วยเรื่องยา the medicine precepts VbhA 69.

เภสัช (ประมวลศัพท์)

ยา, ยารักษาโรค, ยาแก้โรค เป็นอย่างหนึ่งในปัจจัย ๔, เภสัช ๕ ที่เป็นสัตตาหกาลิก รับไว้ฉันได้ตลอด ๗ วัน คือ ๑. สัปปิ เนยใส ๒. นวนีตะ เนยข้น ๓. เตละ น้ำมัน ๔. มธุ น้ำผึ้ง ๕. ผาณิต น้ำอ้อย; ส่วนยาแก้โรคที่ทำจากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น จัดเป็น ยาวชีวิก คือรับประเคนไว้แล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต; ดู เวชกรรม

เภสัช, เภสัช-

  [เพสัด, เพสัดชะ-] น. ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).

เภสัชกร

  [เพสัดชะกอน] น. แพทย์ปรุงยา, ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรม.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย