บาลีวันละคำ

มชฺฌิมา ปฏิปทา (บาลีวันละคำ 92)

มชฺฌิมา ปฏิปทา

อ่านว่า มัด-ชิ-มา / ปะ-ติ-ปะ-ทา (มชฺฌิมา / ปฏิปทา เขียนแยกกัน)

มชฺฌิมา” (รูปศัพท์เดิมว่า มชฺฌิม) แปลว่า “กลาง

ปฏิปทา” แปลตามศัพท์ว่า “เฉพาะทาง” หรือ “ทางเฉพาะ

มชฺฌิมา ปฏิปทา” ตามความหมายเดิมแท้หมายถึงอริยมรรคมีองค์แปด (มักเรียกลัดว่า “มรรคแปด”) ประกอบด้วย –

1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ – Right View; Right Understanding)

2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ – Right Thought)

3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ – Right Speech)

4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ – Right Action)

5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ – Right Livelihood)

6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ – Right Effort)

7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ – Right Mindfulness)

8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ – Right Concentration)

มชฺฌิมา ปฏิปทา” แปลตามที่เข้าใจกันทั่วไปว่า “ทางสายกลาง

ในภาษาไทยใช้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” (เขียนติดกัน) และมักเข้าใจกันว่า หมายถึงไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ทำอะไรแต่พอดีๆ บางทีถึงกับว่า ดื่มเหล้าแต่พอดีๆ เที่ยวเตร่แต่พอดีๆ ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

จะถือมัชฌิมาแบบไหน ถามใจดูให้ดีๆ

บาลีวันละคำ (92)

8-8-55

ห้องพระ

19-8-55

มัชฌิมา

  ว. ปานกลาง, ไม่ยิ่งไม่หย่อน, เช่น พอเป็นมัชฌิมา.(ราชา) น. นิ้วกลาง เรียกว่า พระมัชฌิมา. (ป.; ส. มธฺยมา).

มัชฌิมาปฏิปทา

  น. ทางสายกลาง. (ป.).

ปฏิปทา (ประมวลศัพท์)

(“เฉพาะทาง”, “ทางเฉพาะ”)

วิถีทางที่จะถึงจุดหมายปลายทางหรือที่หมาย, หนทาง, วิธี, วิธีการ, วิธีดำเนินการ, วิถีทาง, การปฏิบัติ

มัชฌิมาปฏิปทา (ประมวลศัพท์)

ทางสายกลาง, ข้อปฏิบัติเป็นกลางๆ ไม่หย่อนจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป ไม่ข้องแวะที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค, ทางแห่งปัญญา (เริ่มด้วยปัญญา, ดำเนินด้วยปัญญา นำไปสู่ปัญญา) อันพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลสและความทุกข์ หรือความหลุดพ้นเป็นอิสระสิ้นเชิง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด

(พจน.ประมวลธรรม)

[293] มรรคมีองค์ 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐ” — the noble Eightfold Path); องค์ 8 ของมรรค (มัคคังคะ — factors or constituents of the Path) มีดังนี้

       1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท — Right View; Right Understanding)

       2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป — Right Thought) ดู [69] กุศลวิตก 3

       3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4 — Right Speech)

       4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต 3 — Right Action)

       5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ — Right Livelihood)

       6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4 — Right Effort)

       7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 — Right Mindfulness)

       8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4 — Right Concentration)

       องค์ 8 ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์ 3 ข้อต้น คือ ข้อ 3-4-5 เป็น ศีล ข้อ 6-7-8 เป็น สมาธิ ข้อ 1-2 เป็น ปัญญา ดู [124] สิกขา 3; [204] อริยสัจจ์ 4; และหมวดธรรมที่อ้างถึงทั้งหมด

       มรรคมีองค์ 8 นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ดู [15] ที่สุด 2

D.II.321;

M.I.61;

M,III.251;

Vbh.235. ที.ม. 10/299/348;

ม.มู. 12/149/123;

ม.อุ. 14/704/453;

อภิ.วิ. 35/569/307.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย