สัตตาหกาลิก (บาลีวันละคำ 3,267)
สัตตาหกาลิก
เจ็ดวันหมดเวลา
อ่านว่า สัด-ตา-หะ-กา-ลิก
“สัตตาหกาลิก” เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺตาหกาลิก” อ่านว่า สัด-ตา-หะ-กา-ลิ-กะ แยกศัพท์เป็น สตฺตาห + กาลิก
(๑) “สตฺตาห”
อ่านว่า สัด-ตา-หะ รากศัพท์มาจาก สตฺต (สัด-ตะ = จำนวนเจ็ด) + อห (อะ-หะ = วัน, กลางวัน), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ อ-(ห) เป็น อา–
: สตฺต + อห = สตฺตาห แปลตามศัพท์ว่า “เจ็ดวัน” หมายถึงรอบ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ หรือระยะเวลา 7 วัน
“สตฺตาห” เป็นคำเดียวกับที่ในภาษาไทยใช้ว่า “สัปดาห์” คือ บาลี “สตฺต” สันสกฤตเป็น “สปฺต” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น สัปด
สัปด + อห = “สัปดาห” ไม่ออกเสียง หะ จึงใส่การันต์ที่ ห เขียนเป็น “สัปดาห์”
ในที่นี้ใช้ตามบาลีเป็น “สัตตาห-” (สัด-ตา-หะ) (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) แปลว่า “เจ็ดวัน”
(๒) “กาลิก”
บาลีอ่านว่า กา-ลิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก กาล + อิก ปัจจัย
(ก) “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
(ข) กาล + อิก = กาลิก (กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาล” (คือขึ้นอยู่กับเวลา) หมายถึง เป็นของเวลา, ประกอบด้วยกาล, ทันเวลา, ชั่วกาล (belonging to time, in time)
“กาลิก” ในภาษาไทยอ่านว่า กา-ลิก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กาลิก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”
สตฺตาห + กาลิก = สตฺตาหกาลิก (สัด-ตา-หะ-กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดไว้เป็นเวลาเจ็ดวัน” (สิ่งนั้นกำหนดเวลาไว้ 7 วัน พอครบตามกำหนด 7 วัน ก็เป็นอันหมดอายุ) หมายถึง ประกอบด้วยเวลาเจ็ดวัน (belonging to seven days)
“สตฺตาหกาลิก” เขียนแบบไทยเป็น “สัตตาหกาลิก” อ่านว่า สัด-ตา-หะ-กา-ลิก
ขยายความ :
“สัตตาหกาลิก” เป็นศัพท์ทางวิชาการ หรือคำวัด แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บไว้ บอกไว้ดังนี้ –
“สัตตาหกาลิก : (คำนาม) ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลิก” อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
“กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้งห้า
๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริง ยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน).”
…………..
หมายเหตุ:
บาลีวันละคำแสดงความหมายของศัพท์ให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเท่านั้น รายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับ “สัตตาหกาลิก” พึงศึกษาตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป
ดูประกอบ:
“ยามกาลิก” บาลีวันละคำ (1,891) 13-8-60
“สามปักกะ” บาลีวันละคำ (2,474) 22-3-62
“อันโตวุตถะ” บาลีวันละคำ (2,475) 23-3-62
“อันโตปักกะ” บาลีวันละคำ (2,476) 24-3-62
“อุคคหิตก์” บาลีวันละคำ (3,265) 21-5-64
“ยาวกาลิก” บาลีวันละคำ (3,266) 22-5-64
…………..
: บางคนใช้เวลา 7 วัน พอหมดเวลาก็ไม่เหลืออะไรไว้
: บางคนใช้เวลาไม่ถึง 7 วัน แต่สิ่งที่ทำอยู่เป็นอมตะตลอดกาล
ดูก่อนภราดา!
ถ้าท่านเหลือเวลาเพียง 7 วัน ท่านจะทำอะไร?
23-5-64