บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๖-

ชาวบ้านต้องศึกษาพระธรรมวินัยด้วย

—————————–

ก็ต้องกลับมาย้ำคำเดิม คือต้องจัดการศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อเรียกสำนึกให้กลับคืนมาว่า อะไรห้ามทำ และอะไรต้องทำ

จนถึงบัดนี้ ผมได้ข้อยุติส่วนตัวแน่นอนแล้วว่า การจัดการแก้ไขหรือพัฒนาใดๆ เกี่ยวกับพระศาสนานั้น อย่าไปขอหรือไปเสนอให้คณะสงฆ์ทำอะไรเป็นอันขาด 

ถ้าคนบอก-คนเสนอไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือท่าน 

ท่านจะไม่ฟังและจะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น 

ทางออกมีทางเดียวคือ เราต้องทำเอง

“เรา” ในที่นี้หมายถึงทุกคนทุกเพศทุกวัยที่รักและหวังดีต่อพระศาสนา 

ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย 

ศึกษาจนรู้แล้ว เข้าใจดีแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติตาม 

หลักปฏิบัติก็ชัดเจนอยู่แล้ว-ทำสิ่งที่ต้องทำ ไม่ทำสิ่งที่ห้ามทำ

พร้อมๆ ไปกับบอกกล่าวเผยแพร่ให้รู้ทั่วกันกว้างออกไป 

และเมื่อพูดว่า “ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย” ก็ไม่ต้องนึกถึงห้องเรียน อุปกรณ์การเรียน แบบเรียน ครูสอน นักเรียน ฯลฯ

สมัยนี้นั่งอยู่กับบ้าน บ้านใครบ้านมัน ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการศึกษาพระธรรมวินัยได้ มีพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ที่แปลเป็นภาษาไทยให้เลือกอ่านได้หลายฉบับ มีตำรา มีคำอธิบายเกี่ยวกับวินัยสงฆ์ คำอธิบายหลักธรรมต่างๆ มากพอแก่การศึกษาเรียนรู้ หากมีข้อสงสัย ก็มีช่องทางติดต่อสอบถามผู้รู้ได้อย่างสะดวก 

ขอเพียงคิดจะทำ ลงมือทำ และทำต่อเนื่อง

ศึกษาจนรู้ตรงกันว่าวิถีชีวิตสงฆ์คืออะไร คืออย่างไร และจะช่วยกันสนับสนุนพระเณรให้สามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้ด้วยวิธีการอย่างไร

เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ 

ไม่ศรัทธาผิดๆ 

ไม่ชื่นชมผิด ๆ

ไม่สนับสนุนผิดๆ 

ยกตัวอย่างเพื่อความชัดเจน 

๑ ในส่วนพระธรรม 

ที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาและเป็นอันตรายระดับลึกก็คือ คนทั้งหลายไปไม่ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะติดตาข่ายคำสอนของอาจารย์

ทุกวันนี้เราได้ยินแต่คนชื่นชมคำสอนของอาจารย์นั่น อาจารย์โน่น คำสอนของสำนักนั้น สำนักโน้น 

แต่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง “คำสอนของพระพุทธเจ้า”

พระพุทธศาสนาเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศไว้เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว

พระพุทธศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อปีที่แล้ว โดยการคิดค้นของอาจารย์ท่านไหนหรือสำนักไหน 

โปรดทราบว่า อาจารย์และสำนักต่างๆ ก็ยังจำเป็นต้องมี 

แต่มีในฐานะเป็นผู้นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบอก แล้วพาคนทั้งหลายไปเฝ้าพระพุทธเจ้า 

ไม่ใช่ตั้งตัวเป็นเจ้าของพระธรรมเสียเอง

เรายังเคารพนับถือครูบาอาจารย์และสำนักต่างๆ ได้เหมือนเดิมเท่าเดิม แต่หน้าที่ของเราคือไปเฝ้าพระพุทธเจ้า คือไปให้ถึงคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงของพระพุทธเจ้า

ไม่ใช่ติดอยู่ที่คำสอนของอาจารย์

พระธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คำสอนของอาจารย์ ต้องจับหลักนี้ไว้ให้ดี 

หลักการ-ขั้นตอน วิธีศึกษาพระธรรมวินัยทำอย่างไร จะได้ว่ากันต่อไปข้างหน้า

๒ ในส่วนพระวินัย 

ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงพุทธบัญญัติ พระเณรทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ อย่าคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง อย่างเช่น 

-พระเลี้ยงแม่ อาบน้ำประแป้งให้แม่ กอดแม่ 

คนสมัยนี้ชื่นชมยินดี สรรเสริญกันมากว่าพระท่านทำดีทำถูกแล้ว 

นี่ก็เพราะไม่รู้และไม่รับรู้ว่ามีพระวินัยบัญญัติห้ามพระทำเช่นนั้น ถ้าอยากจะเลี้ยงแม่ มีวิธีอื่นๆ อีกที่พระวินัยอนุญาตไว้ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีจับเนื้อต้องตัวแม่

ศึกษาพระวินัยก็จะเข้าใจและปฏิบัติถูกต้อง

– เอาเงินใส่บาตรแทนอาหาร กำลังมีผู้นิยมทำกันมาก 

ให้เหตุผลว่าใส่อาหารพระท่านก็ได้แต่อาหาร ใส่เงิน พระท่านจะได้เอาเงินไปซื้อของที่จำเป็นอื่นๆ 

เหตุผลนี้มีคนเห็นด้วยค่อนโลก 

สนับสนุนกันด้วยเหตุผลที่ว่า-สังคมเปลี่ยนไป วิถีชีวิตสงฆ์จำเป็นต้องเปลี่ยน จะให้ทำอะไรเหมือนสมัยพุทธกาลทุกอย่างไม่ได้อีกแล้ว 

พระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนว่าห้ามพระรับเงิน ห้ามพระซื้อ-ขาย

แต่พระวินัยก็มีทางออก

ตรงทางออกนี่แหละที่ไม่ยอมศึกษาเรียนรู้กัน 

ไม่ออกตรงที่ท่านเปิดประตูไว้ให้ อ้างว่ายุ่งยาก มากเรื่อง ไม่สะดวก

แหกคอกออกทางอื่นสะดวกกว่า 

ตรงนี้แหละที่ผมว่า-ต้องเอาวิถีชีวิตสงฆ์คืนมา 

ซึ่งถ้ามองจากตรงนี้-ตรงที่เราพากันเตลิดออกนอกทางมาไกลถึงเพียงนี้แล้ว-จะเห็นว่าเป็นการยากนักหนาที่จะเอาวิถีชีวิตสงฆ์คืนมา 

ยากจนกระทั่งคนค่อนโลกเชื่อว่าทำไม่ได้

อย่างที่คนค่อนโลกเชื่อว่า ถ้าพระไม่หยิบเงินออกมาจ่ายด้วยตัวเอง พระจะครองชีวิตพระอยู่ไม่ได้เอาทีเดียว 

แนวคิดเดิม-พระไม่ต้องใช้เงินจึงจะสามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้

แนวคิดใหม่-พระไม่ใช้เงินจะไม่สามารถครองชีวิตพระอยู่ได้ 

ลองคิดดูเถิดว่า แนวคิดของผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนาเปลี่ยนจากเดิมไปเพียงไร 

มันยิ่งกว่าหน้ามือเป็นหลังมือเสียด้วยซ้ำไป

และผู้รู้ท่านบอกว่า แก้ทิฐิความเห็นของคนนั้น ยากยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

หลักพระวินัยบางเรื่อง คนก็ยังไม่ยอมเข้าใจ เช่นกรณีลักทรัพย์ 

คนทั่วไปเข้าใจตามหลักกฎหมายที่ว่า ต้องได้ทรัพย์นั้นไปอยู่ในครอบครองจึงจะถือว่าความผิดสำเร็จ 

ตลอดจนเข้าใจว่า ถ้าเอาทรัพย์มาคืนเจ้าของ ก็เป็นอันไม่มีความผิด 

แต่พระวินัยไม่ได้ว่าอย่างนั้น

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด-พระขโมยวัว 

ท่านว่าพระตั้งใจขโมยวัวขณะที่วัวยืนอยู่กับที่ 

พระทำให้วัวก้าวขาออกจากที่ที่มันยืนอยู่

ขาที่ ๑ ก้าวไป ยังไม่เป็นความผิดขั้นปาราชิก

ขาที่ ๒ ขาที่ ๓ ก้าวไป ก็ยังไม่เป็นความผิดขั้นปาราชิก 

แต่เมื่อขาที่ ๔ ก้าวพ้นจากที่ ความผิดสำเร็จเรียบร้อย

พระต้องอาบัติปาราชิกทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เอาวัวไปไหนเลยนี่แหละ

ไม่ต้องพูดถึงกรณีเอาทรัพย์ไปแล้วเอามาคืน-ว่าจะไม่มีความผิด 

จะเห็นว่า พระวินัยละเอียดถี่ถ้วนกว่ากฎหมายหลายชั้น 

เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจหลักพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง

จะเข้าใจได้ถูกต้อง ก็ต้องศึกษาเรียนรู้

ไม่ใช่นึกเอาเอง เข้าใจเอาเอง 

พระธรรมวินัยตามที่ยกมาพูดนี้เป็นเพียง “ตัวอย่าง” 

ท่านว่าพระธรรมวินัยนั้นมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

นั่นแปลว่ายังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายมหาศาลที่ควรรู้และต้องช่วยกันรู้

ฝ่ายพระเณร ถ้าไม่เรียนรู้ ก็จะปฏิบัติผิดๆ

ฝ่ายชาวบ้าน ถ้าไม่เรียนรู้ ก็จะสนับสนุนผิดๆ หรือไม่ก็คัดค้านผิดๆ

อย่ารอให้พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำเสียก่อนแล้วจึงเข้าไปช่วย

แต่จงช่วยกันเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยให้เข้าใจชัดเสียก่อน เพื่อช่วยไม่ให้พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๑:๒๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *