บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๘) 

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

ทำปวารณาบัตรประจำตัวพระภิกษุสามเณร ใช้หลักการอะไร?

ปวารณาบัตร” เป็นคำเดิมของคำว่า “ใบปวารณา” เอาคำว่า “ใบปวารณา” นั่นเองกลับมาใช้เป็นคำเดิมว่า “ปวารณาบัตร

เราเคยคุ้นกับ “ใบปวารณา” มาแล้ว เวลานี้ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ทุกร้านมีใบปวารณาจำหน่าย เวลาจะถวายเงินให้พระ ถ้าไม่ปวารณาด้วยการเปล่งวาจา ก็ใช้วิธีเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร นั่นแหละคือ “ใบปวารณา” 

หลักการของใบปวารณาก็คือ –

๑ เจ้าภาพเอาเงินไปมอบให้กัปปิยการก

๒ แล้วทำใบปวารณา เอาใบปวารณาถวายพระ

๓ พระถือใบปวารณาไปแจ้งแก่กัปปิยการกว่าต้องการสิ่งของอะไร (อันสมควรแก่สมณบริโภค) ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบปวารณา

๔ กัปปิยการกไปจัดซื้อของสิ่งนั้นด้วยเงินที่เจ้าภาพบริจาคไว้สำหรับพระรูปนั้น

๕ พระได้ของที่ต้องการ โดยไม่ต้องรับเงิน ไม่ต้องจ่ายเงินด้วยตัวเอง

จะเห็นได้ว่า ตามหลักการของวิธีปวารณา พระเณรสามารถดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ได้โดยไม่ต้องละเมิดสิกขาบทที่ห้ามรับเงิน

เราก็เอาหลักการของใบปวารณาดังกล่าวนี้มาจัดทำ “ปวารณาบัตร” ประจำตัวพระภิกษุสามเณร

ทำยังไง?

ก็ใช้หลักการเดียวกับการทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิต ที่ไฮเทคในปัจจุบันนี้ทำได้และผู้คนใช้กันทั่วไป

ลองนึกเทียบดูง่ายๆ ก่อน ทุกวันนี้เราไปกินข้าวในห้าง ผมเข้าใจว่าห้างทุกแห่งใช้ระบบเดียวกัน ร้านที่ทำอาหารให้ลูกค้าไม่รับเงินสด ลูกค้าต้องเอาเงินไปซื้อคูปอง คือบัตรอาหาร ณ จุดที่กำหนดไว้ แล้วเอาคูปองไปยื่นให้ร้านตอนที่รับอาหาร (รับอาหารมา-ยื่นคูปองไป) ร้านเอาคูปองรูดกับเครื่องที่ติดตั้งไว้ทุกร้าน แล้วคืนคูปองให้ลูกค้าพร้อมกับบอกว่าในคูปองเหลือเงินอยู่เท่าไร นั่นคือการจ่ายค่าอาหารโดย “ไม่ต้องจับเงิน”

“ปวารณาบัตร” ประจำตัวพระภิกษุสามเณรใช้หลักการเดียวกันนี้

อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีคนร้อง โอว โนว impossible กันอึงคะนึง 

ผมขายแนวคิดนี้ให้คนหลายคนแล้ว ไม่มีใครซื้อสักคนเดียว ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวเชื่อว่าทำได้ มีแต่คนบอกว่าทำไม่ได้ พร้อมกับลากภูเขามาขวางทางเต็มไปหมด

แม้แต่คนทำงานธนาคารเองแท้ๆ ฟังแล้วก็บอกเพียงแค่-น่าสนใจ จะลองเอาไปพิจารณา แล้วก็เงียบจ้อยไปจนบัดนี้

ฝ่ายท่านที่ดูท่าทางจะมีความรู้หน่อยก็แย้งยืนยันแบบเย้ยหยันว่า ปวารณาบัตรตามที่ว่านี้มันก็คือ “เงิน” นั่นเอง เป็นอื่นไปไม่ได้ พระเณรถือปวารณาบัตรก็ไม่ต่างกับถือเงินตรงไหนเลย อย่างนี้จะว่าไม่ละเมิดพุทธบัญญัติ ไม่ผิดศีล ฟังไม่ขึ้น ถือเงินจริงๆ สะดวกกว่า

ใจเย็นๆ ฟังรายละเอียดของปวารณาบัตรต่อไปอีกหน่อย

ปวารณาบัตรมีทุนหนุนหลังจากเงินกองทุนบำรุงพระพุทธศาสนา หรือจะเรียกอะไรก็เรียกไป จะเรียกว่าธนาคารพระพุทธศาสนาอย่างที่คิดจะตั้งกันนั่นก็ได้ ทุนนี้ได้มาจากไหนค่อยไปว่ากันอีกส่วนหนึ่ง

หลักการคร่าวๆ แต่เป็นหลักใหญ่ก็คือ กองทุนที่ว่านี้จ่ายเงินเข้าไปยังปวารณาบัตรที่พระเณรถืออยู่ นี่คือที่มาของ “กำลังซื้อ” ที่มีอยู่ในปวารณาบัตร

ปวารณาบัตรใช้รูดได้เฉพาะรายการตามที่กำหนดไว้เท่านั้น รูดเป็นตัวเงินไม่ได้ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ 

นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แสดงว่าปวารณาบัตรไม่ใช่เงิน ปวารณาบัตรต่างจากตัวเงินจริง

“รายการตามที่กำหนด” ได้แก่อะไรบ้าง เป็นไปตามที่มหาเถรสมาคมคือคณะสงฆ์ไทยกำหนด ไม่ใช่วัดต่างๆ หรือพระเณรแต่ละรูปไปกำหนดเอาเอง 

อย่างไรก็ตาม รายการที่ว่านี้ก็ต้องอยู่ในกรอบที่รู้กันว่า “อันสมควรแก่สมณบริโภค” นั่นคือ อะไรที่คณะสงฆ์ไทยเห็นพ้องต้องกันว่าไม่สมควรแก่สมณบริโภค สิ่งนั้นก็จะไม่มีอยู่ในรายการ

(ชักจะรู้สึกแล้วละสิว่า- เอ๊ะ แบบนี้มันจำกัดสิทธิเสรีภาพกันนี่หว่า อาตมาอยากจะฉันไอ้นี่อยากจะมีไอ้นั่น ก็ทำไม่ได้นะสิ)

รายการต่างๆ อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ตัดออกได้ เพิ่มเติมได้ การได้มาแห่งรายการดังกล่าว จะทำสังฆพิจารณ์หรือด้วยวิธีการอย่างไรก็ทำกันไป แต่ต้องอธิบายได้ด้วยเหตุผลตามหลักพระธรรมวินัยว่าเป็นสิ่ง “อันสมควรแก่สมณบริโภค” ไม่ใช่เป็นสิ่งที่อาตมาอยากบริโภค

ตามหลักการนี้ ปวารณาบัตรจึงไม่ใช่เงิน เพราะเอาไปซื้ออะไรไม่ได้เลย แต่ปวารณาบัตรมี “กำลังซื้อ” อยู่ในตัว

ปวารณาบัตรทำหน้าที่แทนกัปปิยการกหรือไวยาวัจกร โดยที่กัปปิยการกหรือไวยาวัจกรตัวเป็นๆ ไม่ต้องตะลอนๆ ตามพระเณรไปทุกหนทุกแห่ง 

อยากฉันอะไร อยากใช้อะไร อันสมควรแก่สมณบริโภค ปวารณาบัตรจัดการให้ได้ โดยที่พระเณรไม่ต้องพกเงิน ไม่ต้องควักเงินจากย่ามเหมือนกับที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้

ขั้นตอนการเอาเงิน หรือ “กำลังซื้อ” ใส่เข้าไปในปวารณาบัตร เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ซึ่งอาศัยกลไกไฮเทคจัดการให้ ขั้นตอนนี้พระเณรไม่ต้องเข้าไปข้องเกี่ยว จึงไม่มีอะไรที่จะเป็นการละเมิดพุทธบัญญัติ เป็นหลักการเดียวกับขั้นตอนที่ญาติโยมเอาเงินไปมอบให้กัปปิยการกหรือไวยาวัจกรนั่นเอง 

เมื่อ “กำลังซื้อ” เข้าไปอยู่ในปวารณาบัตรแล้ว ก็เหมือนตอนที่พระเณรมีสิทธิ์ไปบอกกัปปิยการกหรือไวยาวัจกรให้จัดการจัดหาสิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภคมาให้ 

พระเณรใช้ปวารณาบัตรไปรูด ก็เหมือนกัปปิยการกหรือไวยาวัจกรไปจัดการจัดหาสิ่งของและจ่ายค่าสิ่งของแล้วนำมาถวายนั่นเอง

การที่พระเณรถือปวารณาบัตร จึงไม่ใช่การจับเงินถือเงิน

ยกตัวอย่างเทียบอีกเรื่องหนึ่งเพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น-เหมือนของใส่บาตร 

เวลาคนใส่บาตร คนใส่ต้องใช้เงินซื้ออาหารสำเร็จหรือซื้อของสดมาปรุงเป็นอาหาร แล้วเอาอาหารใส่บาตร 

ใส่อาหาร ไม่ได้ใส่เงิน 

พระก็รับอาหาร ไม่ได้รับเงิน 

แม้อาหารจะมาจากเงิน แต่จะถือว่าพระรับเงินไม่ได้ เพราะรับอาหาร ไม่ได้รับเงิน 

ถ้าบอกว่าปวารณาบัตรคือเงิน อาหารที่ใส่บาตรก็ต้องถือว่าเป็นเงินด้วย

ถ้าพระถือปวารณาบัตรผิด พระรับอาหารบิณฑบาตก็ต้องผิดด้วย

แต่เพราะอาหารที่ใส่บาตรไม่ใช่เงิน ปวารณาบัตรจึงไม่ใช่เงิน

และเพราะพระรับอาหารบิณฑบาตไม่ผิด พระถือปวารณาบัตรก็จึงไม่ผิด 

ปวารณาบัตรรูดได้เฉพาะ “สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค” 

รูดเอาตัวเงินหรือธนบัตรไม่ได้ ทั้งนี้ตามกลไกไฮเทคที่กำหนดไว้

ปวารณาบัตรจึงไม่ใช่เงิน ด้วยประการฉะนี้

ที่พูดมานี้ฟังเหมือนทำได้ง่ายๆ แต่ทำจริงๆ จะยากมากๆ

ยากเพราะจะต้องผจญกับปัญหาอันเกิดจากระบบ+อุปกรณ์กลไกไฮเทค ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีใครคิดทำ

ยากเพราะจะต้องผจญกับปัญหาอันเกิดจากระบบริหารจัดการหลายขั้นตอน ทั้งของคณะสงฆ์เองและของทางบ้านเมือง

และยากเพราะจะต้องผจญกับปัญหาอันเกิดจากการที่ผู้ไม่เห็นด้วยและผู้เสียผลประโยชน์ยกเอาข้อเสียหรืออุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ มาโต้แย้ง-ที่ผมเรียกว่าลากภูเขามาขวางทาง

แต่อย่าเพิ่งถอดใจ (ไม่รู้ว่าพูดบอกใคร น่าจะเป็นคำปลอบใจตัวเอง) ผมมีตัวอย่างจากของจริงบางเรื่องมาเทียบให้ดู

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๐:๐๑

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *