บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด :

ถ้าจะรักษาพระศาสนา

จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์

-๙-

ปวารณา: พยานปากเอก- (๑)

———————————–

ที่ยืนยันว่า นี่เราขาดการรักษาสืบทอดวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วจริงๆ

ปี พ.ศ.๒๔๙๖ ผมเข้าไปเป็นเด็กวัดวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และได้เริ่มรู้เห็นสัมผัสวิถีชีวิตสงฆ์นับแต่บัดนั้นมา

สิ่งสำคัญที่เห็นชัดในวิถีชีวิตสงฆ์ คือ ทันทีที่ครองเพศสมณะ พระทุกรูปจะสำรวมระวังตัวอย่างยิ่ง และความสำรวมระวังนี้จะฝังลึกอยู่ในนิสัยตั้งแต่วันบวชจนถึงวันสึก

เรื่องที่เด็กวัดเข้าใจฝังใจอย่างยิ่งคือ พระเณรทุกรูปต้องออกบิณฑบาต มีเว้นเฉพาะ (๑) หลวงปู่ (พระครูขันตยาภิรัต (ป๋อง) เจ้าอาวาส) กับ (๒) หลวงตา-อีกรูปหนึ่ง (นึกชื่อไม่ออก) ซึ่งแก่มาก อุ้มบาตรเดินเข้าบ้านไม่ไหว มีพระรูปหนึ่งคอยดูแล 

หลวงปู่ไม่ได้ออกบิณฑบาต แต่ท่านตื่นแต่เช้าเดินตรวจรอบวัด ที่กุฏิตรงที่ท่านนั่งประจำจะมีบาตรของหลวงปู่ตั้งอยู่ พระเณรที่ไปบิณฑบาตกลับมาถึงวัดจะแวะเข้าไปตรงที่ตั้งบาตร ตักข้าวใส่บาตรหลวงปู่รูปละทัพพี นั่นคือข้าวที่หลวงปู่ฉัน หลวงปู่ไม่ได้ออกบิณฑบาตก็จริง แต่ก็มีพระเณรใส่บาตรให้ท่านเหมือนออกบิณฑบาตนั่นเอง

วัดหนองกระทุ่มพระฉันรวมกันที่หอฉัน พระที่ไม่ได้ออกบิณฑบาตด้วยความจำเป็นบางอย่างเป็นครั้งคราวก็ต้องออกมาฉัน และพวกเราเด็กวัดเห็นได้ชัดว่าพระรูปนั้นจะมีอาการขัดเขินรู้สึกผิด เหมือนกินแรงเพื่อนพระเณรด้วยกัน

นี่เป็นจุดเล็กๆ จุดเดียวที่เป็นเครื่องยืนยันว่า พระเณรสมัยนั้นรักษาวิถีชีวิตสงฆ์กันแข็งแรงมากๆ

………………..

เรื่องสำคัญที่ประสงค์จะเล่าไว้ในบทความชุดนี้ก็คือ ธรรมเนียมการปวารณา

เมื่อชาวบ้านมีงานบุญ นิมนต์พระไปสวดมนต์เย็นฉันเช้า (สมัยนั้นงานบุญนิยมทำ ๒ วัน คือสวดมนต์ตอนเย็นวันหนึ่ง เลี้ยงพระเช้าวันรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง) เด็กวัดมีหน้าที่สะพายบาตรหิ้วปิ่นโตไปที่บ้านงาน จึงได้เห็นพิธีการต่างๆ ในการทำบุญ 

พิธีเลี้ยงพระเช้าก็คือ พระสวดถวายพรพระ เจ้าภาพและแขกที่มาช่วยงานใส่บาตร แล้วพระฉัน ฉันเสร็จเจ้าภาพถวายไทยธรรม พระอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี

ขั้นตอนสั้นๆ ช่วงเวลาหลังจากเจ้าภาพถวายไทยธรรมแล้วและก่อนที่พระจะอนุโมทนา (ยถา-สัพพี) นี่แหละพิธีกรจะกล่าว “คำปวารณา” คือบอกกล่าวพระว่า เจ้าภาพขอถวายเงินให้พระเป็นจำนวนรูปละเท่านั้นเท่านี้

กิจอันนี้ทุกคนจะเข้าใจเป็นอันดี โดยเฉพาะตัวพิธีกรจะกล่าวได้คล่องแคล่ว ถ้าเกิดลืม “ปวารณา” ก็จะมีคนร้องท้วงขึ้น บางทีก็เป็นพระนั่นเองเตือนขึ้น “โยม ปวารณาก่อน”

แสดงว่า ทั้งชาววัดและชาวบ้านสมัยนั้นเข้าใจซึมซาบเป็นอย่างดีว่าปวารณาคืออะไร และทำไมจึงต้องทำก่อนที่พระจะยถา-สัพพี 

“ปวารณา” ก็คือ การที่ชาวบ้านแจ้งให้พระทราบว่า ชาวบ้านมีศรัทธาขอถวายเงินแก่พระจำนวนเท่านี้ๆ แต่ไม่ได้เอาเงินมาประเคนใส่มือพระหรือใส่ย่ามพระไปตรงๆ เพราะทั้งพระทั้งชาวบ้านรู้พระวินัยตรงกันว่า มีสิกขาบทบัญญัติห้ามพระรับเงิน ดังนั้น เมื่อจะถวายเงินจึงต้องเอาเงินนั้นไปมอบไว้แก่คนวัดที่ไม่ใช่พระเณร คนชนิดนี้ภาษาพระเรียกว่า “ไวยาวัจกร” หรือ “กัปปิยการก” (ที่วัดหนองกระทุ่มทั้งพระทั้งชาวบ้านเรียกคนชนิดนี้ว่า “อุปัฏฐาก”) ซึ่งก็คือชาวบ้านที่สมัครใจหรือถูกขอร้องให้เข้าไปช่วยดูแลพระเณรในวัดนั้นๆ เป็นการประจำนั่นเอง 

และที่ไม่เอาเงินไปมอบให้คนวัดเงียบๆ หากแต่บอกกล่าวให้พระรู้ด้วยเป็นการเปิดเผย ก็เพื่อให้พระกับคนวัดรับรู้ข้อมูลตรงกัน คือ พระก็รู้ว่ามีเงินอันเป็นสิทธิของท่านอยู่ที่คนวัดเป็นจำนวนเท่านี้ ฝ่ายคนวัดก็รู้ว่า เงินที่ตนรับไว้เป็นสิทธิ์เป็นส่วนของพระเณรรูปนั้นๆ จำนวนเท่านี้ๆ

การกระทำตามที่บรรยายมานี้แล เรียกว่า “ปวารณา” 

เป็นระเบียบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวพุทธในเมืองไทย ซึ่งเมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่ล่วงมาหรือกว่าครึ่งศตวรรษเป็นที่รู้เข้าใจกันดีในหมู่ชาววัดและชาวบ้าน

คำปวารณาที่เป็นมาตรฐาน มีข้อความตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

…………………………….

เจ้าภาพ (จะระบุชื่อหรือไม่ก็ได้) มีจิตศรัทธาขอปวารณาปัจจัยสี่แด่พระคุณเจ้าเป็นมูลค่ารูปละ … บาท* (จะแจงรายละเอียดด้วยก็ดี เช่น … ขอปวารณาปัจจัยสี่แด่พระคุณเจ้าตามรายการต่อไปนี้ – ประธานสงฆ์ … บาท* พระอันดับรูปละ … บาท* และถ้ามีรายการอื่นๆ อีกก็แจงลงไป เช่น เงินบำรุงวัด เงินค่านั่นนี่) ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกร (หรือกัปปิยการก หรืออุปัฏฐาก) แล้ว ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกร (…) ของพระคุณเจ้านั้นเทอญ

…………………………….

*ตรงคำว่า บาท นี้ มีคำอธิบายประกอบ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๔:๔๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *