บาลีวันละคำ

สิปปะ (บาลีวันละคำ 3,286)

สิปปะ 

มีศิลปวิทยา

คำในพระสูตร: สิปฺปญฺจ (สิบ-ปัน-จะ) 

สิปปะ” อ่านว่า สิบ-ปะ

สิปปะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สิปฺป” อ่านว่า สิบ-ปะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)

: สปฺป > สิปฺป + = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้

(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ปัจจัย, ซ้อน ปฺ

: สิ + ปฺ + = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ

สิปฺป” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)

บาลี “สิปฺป” สันสกฤตเป็น “ศิลฺป” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศิลฺป : (คำนาม) ‘ศิลปะ,’ กลา, หัสตหรือยันตรวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่ง, ดุจหัสตกรรม, ฯลฯ; an art, any manual or mechanical art, as handicraft etc.”

คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเท่ห์, อุบาย

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า –

(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้

(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด

(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน

(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ

(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล

บาลี “สิปฺป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศิลป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น วิจิตรศิลป์ ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”

กฎการสะกด :

(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว 

– ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่

– ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ )

– เขียนว่า “ศิลป” จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้ อ่านว่า สิน ก็ไม่ได้

(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์

…………..

ในที่นี้ ไม่ใช้ “ศิลปะ” ตามที่คุ้นกันในภาษาไทย เพราะ “ศิลปะ” ในภาษาไทยมักเล็งความหมายไปที่การแสดง เช่นการร่ายรำ การดนตรี การขับร้อง การวาดเขียน การปั้น การแกะสลัก การแต่งบทประพันธ์ ที่เรียกรวมๆ ว่า “งานศิลปะ”

แต่ “สิปปะ” ในบาลี หมายถึง ความรู้ความสามารถที่จะจัดจะทำอะไรๆ ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ จะเป็นอะไรก็ตาม ชั้นที่สุดเอาใบไม้มาเป่ากับปากให้เป็นเพลง ก็เรียกว่า “สิปปะ” ได้เช่นกัน ไม่ได้เน้นเฉพาะ “งานศิลปะ” ดังที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 8 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “สิปฺปญฺจ” (สิบ-ปัน-จะ) แปลว่า “มีศิลปวิทยาประการหนึ่ง” ไขความว่า การมีความรู้ความสามารถที่จะกระทำกิจการงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จได้ด้วยดี กล่าวให้เนื่องกับมงคลข้อก่อนคือ “พาหุสัจจะมีความรู้มาก ก็คือรู้ทฤษฎีวิชาการมาก ส่วน “สิปปะ” คือสามารถเอาทฤษฎีวิชาการมาปฏิบัติได้จริง ลงมือทำได้ทำเป็น ไม่ใช่รู้เพียงทฤษฎี แต่ปฏิบัติไม่เป็น

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

8. สิปฺปญฺจ (มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน — Sippa: skill; knowledge of the arts and sciences)

…………..

ในอรรถกถาท่านขยายความ “สิปปะ = มีศิลปวิทยา” ไว้ดังนี้ –

…………..

เอวมิเมสํ  หตฺถโกสลฺลํ  ฐาเน  ปยุตฺตํ  อิธโลกหิตนฺโตคธํ ปสํสํ  อาวหตีติ  มงฺคลํ  ชาตํ. อฏฺฐาเน  ปยุตฺตนฺตุ  นินฺทาวหนโต อมงฺคลํ. 

ความเป็นผู้ฉลาดในหัตถกรรม (คือสิปปะแขนงหนึ่ง) ที่ประกอบในกรณีที่สมควร ย่อมนำมาซึ่งความสรรเสริญ นับเข้าในประโยชน์เกื้อกูลในโลกนี้ ด้วยประการฉะนี้ เหตุนั้นจึงจัดเป็นมงคล. แต่ที่ประกอบในกรณีที่ไม่สมควรหาเป็นมงคลไม่ เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความติเตียน 

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 1 ข้อ 135 หน้า 153

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าตัดสินความสามารถ

: ด้วยกระดาษแผ่นเดียว

—————–

ตามไปอ่านบาลีวันละคำทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

#บาลีวันละคำ (3,286) (ชุดมงคล 38)

11-6-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *