บาลีวันละคำ

ตัดบท (บาลีวันละคำ 3,177)

ตัดบท

มาจากบาลีหรือเปล่า

คำว่า “ตัดบท” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

ตัดบท : (คำกริยา) พูดให้ยุติเรื่องกัน; แยกคําออก.”

ความหมายของ “ตัดบท” ในภาษาไทยที่ว่า “พูดให้ยุติเรื่องกัน” สันนิษฐานว่า น่าจะมีต้นเหตุมาจากการร้องละครที่มีบทร้องหรือบทเจรจา กำลังร้องบทหนึ่งอยู่ แล้วตัดบทนั้นออกเพื่อไปดำเนินเรื่องในบทใหม่ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เรื่องตรงนั้นขาดไป

เมื่อใครพูดให้เรื่องที่กำลังดำเนินอยู่หยุดลง จึงเอาวิธีในบทละครมาใช้เรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “ตัดบท”

แต่ความหมายอีกท่อนหนึ่งที่ว่า “แยกคําออก” นั้น มาจากวิธีการในบาลีไวยากรณ์ที่มีศัพท์เรียกว่า “ปทจฺเฉท” อ่านว่า ปะ-ทัด-เฉ-ทะ ประกอบด้วยคำว่า ปท = บท + เฉท = การตัด ซ้อน จฺ ระหว่างคำ

: ปท + จฺ + เฉท = ปทจฺเฉท แปลตามศัพท์ว่า “การตัดซึ่งบท” คือการแยกคำที่สมาสหรือสนธิกันอยู่ออก ทำให้เป็นคนละคำกัน

ฝึกหัดตัดบท :

มีบทสวดมนต์บทหนึ่งชื่อ “รตนสูตร” เวลานี้รู้จักกันดีว่าเป็นบททำน้ำมนต์เพื่อบำราบโรคภัย บทรตนสูตรนี้มี “บทขัด” อันเป็นคำบอกกล่าวถึงความเป็นมาหรืออานิสงส์ของพระสูตรนั้นก่อนที่จะสวดตัวบทจริงๆ

บทขัดรตนสูตรมีความตอนหนึ่งแปลเป็นไทยว่า –

…………..

ขอเหล่าเทพดาจงคุ้มครองให้พ้นจากราชภัย โจรภัย มนุสภัย อมนุสภัย อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากปีศาจ ภัยจากหลักตอเสี้ยนหนาม ภัยจากเคราะห์หามยามร้าย จากโรคภัยไข้เจ็บ จากอสัทธรรม จากมิจฉาทิฐิคือความเห็นผิด จากคนชั่ว จากภัยต่างๆ อันเกิดแต่สัตว์ร้ายนานาชนิด และจากอมนุษย์มียักษ์และรากษสเป็นต้น จากโรคต่างๆ จากอุปัทวะต่างๆ

…………..

ข้อความที่ว่า “จากภัยต่างๆ อันเกิดแต่สัตว์ร้ายนานาชนิดและจากอมนุษย์มียักษ์และรากษสเป็นต้น” คำบาลีว่าดังนี้ –

…………..

จณฺฑหตฺถิอสฺสมิคโคณกุกฺกุรอหิวิจฺฉิกมนิสปฺปทีปิอจฺฉตรจฺฉสุกรมหิสยกฺขรกฺขสาทีหิ …

…………..

เขียนเป็นคำอ่านดังนี้ –

…………..

จัณฑะหัตถิอัสสะมิคะโคณะกุกกุระอะหิวิจฉิกะมะนิสัปปะทีปิอัจฉะตะรัจฉะสุกะระมะหิสะยักขะรักขะสาทีหิ …

…………..

นักสวดมนต์รุ่นเก่า เมื่อสวดถึงข้อความตอนนี้ มักจะครั่นคร้ามเข็ดขยาดกันมาก เนื่องจากมีศัพท์บาลีสมาสติดกันยาวเหยียด ประกอบด้วยสระเสียงสั้นแทรกอยู่เป็นอันมาก ออกเสียงยาก สวดยาก ถ้าไม่แม่นไม่แข็งจริง มักล่มเอาง่ายๆ

ศัพท์บาลีที่สมาสติดกันยาวเหยียดดังที่ยกมานั้นตัดบทได้ดังนี้ –

จณฺฑ = ดุร้าย

หตฺถิ = ช้าง

อสฺส = ม้า

มิค = เนื้อ

โคณ = โค

กุกฺกุร = สุนัข

อหิ = งูเห่า

วิจฺฉิก = แมลงป่อง

มนิ = งูปิ่นแก้ว

สปฺป = งูบ้าน

ทีปิ = เสือเหลือง

อจฺฉ = หมี

ตรจฺฉ = หมาใน

สุกร = หมู

มหิส = ควาย

ยกฺข = ยักษ์

รกฺขส = รากษส

อาทีหิ = เป็นต้น

เวลาสวด ถ้ารู้บาลีก็จะช่วยให้กำหนดศัพท์หรือบทแต่ละบทได้ง่าย ทำให้ออกเสียงได้ถูกกับบทนั้นๆ พร้อมทั้งรู้ความหมายไปด้วยในตัว

การเรียนบาลีย่อมเป็นอุปการะในการสวดมนต์ได้มาก ด้วยประการฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าจะตัด ตัดให้ขาด

: ถ้าจะต่อ ต่อให้ติด

: ตัดไม่ขาดเป็นพิษ

: ต่อไม่ติดเป็นภัย

#บาลีวันละคำ (3,177)

22-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย