บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันพายได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น (๑)

ช่วยกันพายได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น (๒)

ช่วยกันพายได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น (๒)

————————-

ถอยไปจับหลักให้แม่นก่อนว่า – 

๑. พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี

๒. ที่มีการเรียนบาลีก็ด้วยเหตุผลเดียว คือเพื่อจะได้เข้าถึงพระไตรปิฎก

อย่างที่ผมเคยอุปมา – 

๑. เราต้องการได้วิชาที่เขาสอนเป็นภาษาอังกฤษ

๒. เราจึงให้คนของเราไปเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อที่ว่าเมื่อรู้ภาษาอังกฤษแล้วจะได้ไปเรียนวิชาที่เราต้องการ

ปัญหาเกิดตรงที่-คนของเราเรียนภาษาอังกฤษจบแล้ว แต่ไม่ไปเรียนวิชาที่ต้องการ 

เวลานี้เหมือนกับว่า คนที่เรียนภาษาอังกฤษจบแล้วก็ได้แต่ชื่นชมยินดีกันว่าฉันจบภาษาอังกฤษ ฉันรู้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่ยอมไปเรียนวิชาที่ต้องการสักที

ที่เราต้องการคือ-คนรู้วิชา คนมีวิชา เอาวิชามาใช้งาน

ไม่ได้ต้องการคนรู้ภาษาอังกฤษ

เราต้องการคนรู้ภาษาอังกฤษเพียงเพื่อเอาภาษาอังกฤษไปใช้เรียนวิชาที่ต้องการ ไม่ใช่ให้จบอยู่แค่เรียนภาษาอังกฤษ

จึงต้องมาคิดกันว่า-ทำอย่างไรคนที่เรียนภาษาอังกฤษจบแล้วจึงจะไปเรียนวิชา

การเรียนการสอนบาลีก็มีอุปมาเช่นเดียวกันนี้

เรามีการเรียนการสอนภาษาบาลีก็เพื่อจะได้เอาความรู้ภาษาบาลีไปเรียนพระไตรปิฎก 

ปัญหาเกิดตรงที่-คนของเราเรียนภาษาบาลีจบแล้ว แต่ไม่ไปเรียนพระไตรปิฎก 

เวลานี้คนที่เรียนภาษาบาลีจบแล้วก็ได้แต่ชื่นชมยินดีกันว่าฉันเรียนบาลีจบแล้ว ฉันรู้บาลี แต่ไม่ยอมไปเรียนพระไตรปิฎกสักที

ที่เราต้องการคือ-คนรู้พระไตรปิฎก เอาหลักพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกมาใช้งาน

ไม่ได้ต้องการคนรู้ภาษาบาลี

เราต้องการคนรู้ภาษาบาลีเพียงเพื่อเอาความรู้ภาษาบาลีไปใช้เรียนพระไตรปิฎก ไม่ใช่ให้จบอยู่แค่เรียนภาษาบาลี

จึงต้องมีพระราชปุจฉาว่า-ทำอย่างไรคนที่เรียนบาลีจบแล้วจึงจะไปเรียนพระไตรปิฎกต่อไป

นี่ความเข้าใจของผม ผิดถูกประการใดโปรดช่วยกันพิจารณา

…………………….

คำสำคัญอีกคำหนึ่งที่ต้องตีกรอบให้ถูก คือคำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” หมายความว่าอย่างไร กินความแค่ไหน

เมื่อพูดกันว่า นักเรียนบาลีของเราไม่ได้เรียนพระไตรปิฎก ก็จะมีทนายออกมาแก้ต่างให้ว่า คัมภีร์ที่นักเรียนบาลีใช้เรียน (ธัมมปทัฏฐกถา มังคลัตถทีปนี สมันตปาสาทิกา วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถวิภาวินี) แม้ไม่ใช่ตัวพระไตรปิฎกโดยตรง แต่ในคัมภีร์เหล่านั้นก็ได้ยกข้อความในพระไตรปิฎกมาแสดงไว้ทั่วๆ ไป เมื่อเรียนคัมภีร์เหล่านั้นก็เท่ากับได้เรียนพระไตรปิฎกไปด้วยแล้วในตัว เท่ากับได้เข้าถึงพระไตรปิฎกอยู่แล้ว จะเอาอย่างไรอีก

นี่ก็คือตีความคำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” ไปในแนวหนึ่ง

อันที่จริงคำแก้ต่างนี้น้ำหนักอ่อนมาก 

คิดดูง่ายๆ นักเรียนบาลีของเราไม่ได้แปลธัมมจักกัปปวัตนสูตร ไม่ได้แปลอนัตตลักขณสูตร ไม่ได้แปลอาทิตตปริยายสูตร ๓ พระสูตรสำคัญนี้พระสงฆ์ไทยสวดกันได้ทั่วไป แต่ในหลักสูตรบาลีของเรานักเรียนบาลีไม่ได้แปลพระสูตรสำคัญนี้เลย พระสูตรอีกเป็นร้อยเป็นพันในพระสุตตันตปิฎกนักเรียนบาลีของเราก็ไม่ได้แปล อย่าว่าถึงได้แปลเลย แม้แต่อ่านที่แปลไว้แล้วก็อาจจะไม่เคยอ่านด้วยซ้ำไปเพราะไม่ได้อยู่ในหลักสูตร 

นี่ว่าเฉพาะพระสุตตันตปิฎก ยังพระวินัยปิฎกและพระอภิธัมมปิฎกอีกเล่า

คำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” ควรมีความหมายมากกว่าเรียนเพียง ๕ คัมภีร์ก็ชื่อว่าเข้าถึงแล้ว

ผมได้สนทนากับพระเถระบางรูป และได้เห็นเค้าร่างหลักสูตรบาลีที่กำลังคิดๆ กันของบางท่าน ท่านคิดจะเอาพระไตรปิฎกมาใส่ไว้ในหลักสูตร พูดกว้างๆ หลวมๆ ก็อย่างเช่น – 

เปรียญตรี (ประโยค ๑-๓) เรียนพระวินัยปิฎก

เปรียญโท (ประโยค ๔-๖) เรียนพระสุตตันตปิฎก

เปรียญเอก (ประโยค ๗-๙) เรียนพระอภิธัมมปิฎก

นี่ก็เป็นความพยายามที่จะทำให้ “การเรียนการสอนพระบาลี” นำไปสู่การ “เข้าถึงพระไตรปิฎก” อีกแนวหนึ่ง

ผมมีความเห็นว่า ถ้าใช้วิธีกำหนดเป็นหลักสูตรตามเค้าร่างกว้างๆ หลวมๆ ดังแสดงนั้น สิ่งที่จะต้องมีตามมาก็คือศักดิ์และสิทธิ์ตามหลักสูตร 

เช่น สอบผ่านเปรียญตรีได้ศักดิ์และสิทธิ์อย่างนี้ๆ สอบผ่านเปรียญโท-เปรียญเอกได้ศักดิ์และสิทธิ์อย่างนี้ๆ

นักเรียนบาลีของเราก็จะพากันเรียนบาลี-ตามหลักสูตรใหม่-เพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์ และพอได้ศักดิ์และสิทธิ์แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น 

พระไตรปิฎกก็อยู่ส่วนพระไตรปิฎก ผู้เรียนจบแล้วก็อยู่เฉยๆ – แบบเดียวกับที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้

เราจะทำให้การ “เข้าถึงพระไตรปิฎก” มีความหมายแบบนี้หรือ?

ผมจึงว่า –

ถ้าตีความคำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” ผิด 

คำวิสัชนาก็จะพลาด

การปฏิบัติตามมาก็จะคลาดเคลื่อนไปจากเป้าหมายที่พระราชปุจฉาพึงประสงค์

…………………….

ตามความเข้าใจของผม คำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” มีนัย ๒ อย่าง คือ –

๑. ตัวผู้เรียนบาลีเองเข้าถึงพระไตรปิฎก

๒. แล้วใช้ความรู้จากการเรียนบาลีนั้นทำให้ผู้อื่นเข้าถึงพระไตรปิฎกต่อไปอีก

ขั้นตอนที่พึงกระทำให้เป็นไป คือ –

๑. ผู้เรียนบาลีใช้ความรู้ภาษาบาลีที่เรียนมาเข้าไปศึกษาสอบสวนทบทวนหลักพระธรรมวินัยอันมีอยู่ในพระไตรปิฎกให้แตกฉานถูกต้องถ่องแท้ทั่วถึงครบถ้วน ถึงขนาดว่าเมื่อต้องการวินิจฉัยกรณีใดประเด็นใด ก็สามารถหยิบยกพระธรรมวินัยมาเป็นหลักในการวินิจฉัยตัดสินกรณีนั้นประเด็นนั้นได้อย่างถูกต้องถ่องแท้เที่ยงตรงปราศจากข้อขัดแย้ง ทันเหตุทันการณ์ ไม่ปล่อยให้อึมครึมค้างคาใจใครในสังคม ทั้งเป็นหลักเป็นฐานเป็นกลางไม่อิงอ้างขึ้นกับความเห็นตัวบุคคล

๒. จากนั้น ผู้เรียนบาลีนำหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติ ทั้งในส่วนที่เป็นระเบียบแบบแผน ทั้งในส่วนที่เป็นเครื่องขัดเกลาตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดยิ่งๆ ขึ้น 

๓. จากนั้น นำหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไปแนะนำพร่ำสอนเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไปยังประชุมชน แล้วช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้คนประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยทั่วถึง ยังความสุขสงบร่มเย็นให้เกิดแก่สังคมประเทศชาติ

นี่คือความหมายโดยสมบูรณ์ของคำว่า “เข้าถึงพระไตรปิฎก” ที่ผมคิดเห็นด้วยสติปัญญาอันน้อย

ผมเชื่อว่า การช่วยกันคิดคือการช่วยกันขับเคลื่อนงานพระศาสนา

เราทั้งหลายนับถือพระศาสนาเดียวกันก็เหมือนคนลงเรือลำเดียวกัน หลายท่านอาจถือคติว่า เพียงนั่งนิ่งๆ ไม่ทำให้เรือโคลง แค่นี้ก็ดีแล้ว

จริงครับ

แต่ถ้าช่วยกันพายได้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ เมษายน ๒๕๖๔

๑๙:๒๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *