บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ฉันจะเป็นคนดีเป็นคนสุดท้าย

ฉันจะเป็นคนดีเป็นคนสุดท้าย

—————————

เมื่อวาน (๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑) ผมเขียนบาลีวันละคำ คำว่า “รโชหรณํ รชํ หรติ” ผมเขียนอธิบายคำว่า “รช” ซึ่งอยู่ในคำว่า “รโชหรณํ” ว่ามาจากรากศัพท์อะไร ในคำอธิบายนั้นผมเขียนพลาดไปคำหนึ่ง คือมีพยัญชนะเกินเข้ามาโดยไม่ตั้งใจ และไม่ได้ตรวจให้เรียบร้อย 

เมื่อบาลีวันละคำคำนั้นเผยแพร่ออกไป ก็มีญาติมิตรท่านหนึ่งบอกข้อผิดพลาดนั้นให้ทราบ ผมทราบแล้วก็ขอบคุณท่านและรีบเข้าไปแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 

อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด 

แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่จุดชนวนให้ผมได้ความคิด

…………..

เพื่อนคอยเป็นหูเป็นตาให้เพื่อน

เป็นกองระวังหลังให้เพื่อน 

อำนวยประโยชน์ให้เพื่อนตามแนวทางที่ตนถนัด

ผมอยากให้เราชาวเฟซบุ๊กมีความสัมพันธ์กันแบบนี้

ผมเคยบอกแล้วว่า เราแต่ละคนมี “ทาง” ของตัวเอง 

อย่างผม “ทาง” ของผมคือหลักวิชาทางพระพุทธศาสนา มีภาษาบาลีเป็นต้น 

เพื่อนคนไหนเจ็บท้องข้องใจ เข้า “ทาง” ของผมแล้ว ผมช่วยได้เต็มที่ ตั้งแต่ขั้นปฐมพยาบาลไปจนถึงรักษาหายขาด แล้วแต่อาการหนักเบาแค่ไหน

ไม่ใช่เก่งกล้าสามารถ แต่เพราะมันเป็น “ทาง” ของผม 

เพื่อนทุกคนก็จะเป็นแบบเดียวกันนี้ 

ไม่ว่าใครจะมีภูมิหลังอย่างไร 

มีพื้นฐานอย่างไร 

ก็จะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็น “ทาง” ของตนเสมอ 

คนที่ทึ่มที่สุดในเรื่องหนึ่ง 

คือคนแหลมที่สุดในอีกเรื่องหนึ่ง 

เป็นอย่างที่ว่า-ทางใครทางมัน

ทุกวันนี้ โลกโซเชียลมีเดียเป็นสังคมที่ผู้คนจะต้องเข้าเป็นสมาชิกไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม 

เฉพาะสังคมเฟซบุ๊ก เคยสังเกตไหมว่า มีคำว่า “เพื่อน” หรือ “friend” เป็นคำสำคัญมากคำหนึ่ง 

ดังจะเห็นได้ว่าใครจะมีความสัมพันธ์กับใครได้แค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับว่าใครเป็น “เพื่อน” กับใครแล้วหรือยัง 

นี่เท่ากับว่าเฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้เราใช้ “ทาง” ของเราทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์แล้ว 

ขึ้นอยู่กับว่าเราเปิดใจที่จะมองเพื่อนมนุษย์ว่าเขาเป็น “เพื่อน” ของเราหรือเปล่า 

——————-

ธรรมชาติของคนก็คือ ผูกพันอยู่กับคนในสังคมของตน 

เริ่มตั้งแต่คนในครอบครัว ญาติๆ เพื่อนๆ 

ถ้าเป็นคนในครอบครัว เป็นญาติ หรือเป็นเพื่อน เราจะยินดีทำอะไรให้ หรือทำอะไรร่วมกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เต็มอกเต็มใจ และเต็มที่เสมอ 

ขอให้สังเกตที่ความเป็นเพื่อนร่วม-อะไรสักอย่าง 

ร่วมภาค – มาจากภาคเดียวกัน

ร่วมจังหวัด – มาจากจังหวัดเดียวกัน

ร่วมสถาบัน 

มาจากโรงเรียนเดียวกัน 

ชั้นเดียวกัน 

เรียนห้องเดียวกัน

จบจุฬาฯ จบธรรมศาสตร์ จบเตรียมทหารเหมือนกัน

ยิ่งถ้าเป็นคณะเดียวกัน เอกเดียวกัน ยิ่งสนิท

จบมาจากวัดเหมือนกัน

จบ พธ.บ. ศน.บ.รุ่นเดียวกัน

ได้ประโยค ๙ ปีเดียวกัน

ฯลฯ

ความเป็น “เพื่อน” ก็จะยิ่งเข้มข้นยิ่งขึ้น 

อาจถึงระดับที่คำคนเก่าท่านพูดว่า-ตายแทนกันได้ 

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการอำนวยประโยชน์อื่นใดให้กันอีกสารพัด 

เวลาเห็นคำว่า “เพื่อน” ในเฟซบุ๊ก เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็นตัวจริง

เราทำความรู้สึกได้หรือเปล่าว่า นี่คือเพื่อนที่เรียนห้องเดียวกันมากับเรา 

รู้สึกอย่างนี้หรือเปล่า

รู้สึกอย่างนี้ได้ไหม

เฟซบุ๊กอุตส่าห์เปิดช่องทางให้เราแล้ว ให้เราเป็น “เพื่อน” กัน 

เราเพียงแต่พัฒนา-ต่อยอดขึ้นไปอีก ให้เขาเป็นเพื่อนที่สนิทเสมือนหนึ่งว่า-เพื่อนรักกันมาก เรียนห้องเดียวกันมา

แบบนี้-ทำได้ไหม 

ถ้าทำได้ 

เรามี “เพื่อน” ที่รักกันถึงปานนั้น 

เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหลายพัน 

มันจะวิเศษขนาดไหน 

ลองคิดดู 

——————-

น่าเสียดายที่เรามักจะก่อกำแพงปิดกั้นความเป็นเพื่อนชนิดนั้น-ขนาดนั้นกันเสียหมด 

ก็-เขาไม่ใช่เพื่อนจริงๆ แบบนั้น จะให้นึกเป็นแบบนั้นได้อย่างไร – เราก็จะให้เหตุผลแก้ตัวให้ตัวเองกันแบบนี้

ยังมีอีก – คนเราไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน เราคิดดีกับเขาแบบที่ว่านั่น แต่ใครจะรับประกันว่าเขาก็จะคิดดีกับเราแบบเดียวกัน 

ในเฟซบุ๊กนี่แหละ เห็นไหม คนที่เป็น “เพื่อน” กันเพื่อจะขายของ เพื่อจะแสวงกำไร แสวงหาประโยชน์จากเพื่อน มีให้เกลื่อนไปหมด 

ก็เห็นๆ กันอยู่ 

เพราะฉะนั้น ไอ้ที่คุณว่านั่น ฝันไปเถอะ 

…………..

ฟังเหมือนกับจะบอกว่า 

ขอให้โลกมีแต่คนที่เป็น “เพื่อน” ที่ดีต่อกันหมดทั้งโลกก่อน 

แล้วฉันจะเป็น “เพื่อน” ที่ดีของใครๆ เป็นคนสุดท้าย 

จะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์นี่ เราจะต้องรอกันถึงขนาดนั้นเลยหรือ? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑

๑๕:๓๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *