บาลีวันละคำ

กตัญญุตา (บาลีวันละคำ 3,307)

กตัญญุตา

ความเป็นผู้กตัญญู

คำในพระสูตร: กตญฺญุตา (กะ-ตัน-ยุ-ตา) 

กตัญญุตา” อ่านว่า กะ-ตัน-ยุ-ตา

กตัญญุตา” เขียนแบบบาลีเป็น “กตญฺญุตา” อ่านว่า กะ-ตัน-ยุ-ตา รูปคำเดิมมาจาก กตญฺญู + ตา ปัจจัย

(๑) “กตญฺญู” 

อ่านว่า กะ-ตัน-ยู รากศัพท์มาจาก กต + ญู 

(ก) “กต” บาลีอ่านว่า กะ-ตะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (กรฺ > )

: กรฺ + = กรต > กต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากระทำแล้ว” 

กต” เป็นรูปคำกริยากิตก์ และใช้เป็นคุณศัพท์ด้วย หมายถึง ทำ, ประกอบ, สร้างแล้ว, สำเร็จแล้ว (done, worked, made)

(ข) กต + ญู รากศัพท์มาจาก กต + ญา (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, ซ้อน ญฺ, ลบสระที่สุดธาตุ (ญา > ) และลบ ที่ รู (รู > อู)

: กต + ญฺ + ญา = กตญฺญา > กตญฺญ + รู > อู : กตญฺญ + อู = กตญฺญู แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้อุปการะที่คนอื่นทำแล้วแก่ตนโดยปกติ” (2) “ผู้มีอันรู้อุปการะที่คนอื่นทำแล้วเป็นปกติ

เงื่อนไขทางปฏิบัติ :

๑ อุปการะ คือประโยชน์หรือผลดีที่ได้รับจากคนอื่นหรือแม้จากสิ่งอื่น หมายความว่าประโยชน์หรือผลดีนั้นไม่จำเพาะที่มาจากคนเสมอไป แม้ที่มาจากสิ่งที่ไม่ใช่คนก็ต้องรู้ด้วย

๒ อาการที่รู้นั้นต้องรู้อยู่เป็นปกติ คือรู้อยู่เป็นนิสัย ไม่ใช่รู้เป็นบางครั้งบางคราว หรือยามปกติไม่รู้ แต่พอไม่ปกติ เช่นมีทุกข์มีปัญหาจึงนึกขึ้นมาได้

(๒) กตญฺญู + ตา ปัจจัย

ตา” เป็นปัจจัยตัวหนึ่ง ในบาลีไวยากรณ์อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “ตัทธิต” (ตัด-ทิด) ตา-ปัจจัยเป็นปัจจัยในภาวตัทธิต แทนศัพท์ว่า “ภาว” (ความเป็น) ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้เป็นคำนาม แปลว่า “ความเป็น–” เทียบกับภาษาอังกฤษก็คล้ายกับ -ness -ation หรือ -ity นั่นเอง เช่น –

happy แปลว่า สุข สบาย 

happiness แปลว่า ความสุข 

: กตญฺญู + ตา = กตญฺญูตา > กตญฺญุตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว” หมายถึง ความเป็นผู้รู้คุณท่าน (gratitude; gratefulness; appreciation) 

กตญฺญุตา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กตัญญุตา” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “กตัญญุตา” ไว้ว่า –

กตัญญุตา : ความเป็นคนกตัญญู, ความเป็นผู้รู้คุณท่าน.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กตัญญุตา : (คำนาม) ความกตัญญู, ความเป็นผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำให้, ความเป็นผู้รู้คุณท่าน, เป็นคำคู่กันกับ กตเวทิตา. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “กตัญญูกตเวที” ขอนำมาเสนอไว้เพื่อให้เข้าใจความหมายของ “กตัญญุตา” กว้างขวางขึ้น ดังนี้ –

…………..

กตัญญูกตเวที : ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ กตัญญู รู้คุณท่าน; กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน; ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง (ข้อ ๒ ในบุคคลหาได้ยาก ๒)

…………..

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 25 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “กตญฺญุตา” (กะ-ตัน-ยุ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้กตัญญู” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

25. กตญฺญุตา (มีความกตัญญู — Kataññutā: gratitude)

…………..

ในคัมภีร์ท่านขยายความ “กตัญญุตา = ความเป็นผู้กตัญญู” ไว้ดังนี้ –

…………..

สา  จสฺส  ทุลฺลโภ  อยนฺติ  ปสํสนียตํ  ปาเปติ.  ตโตเยว  สา  มงฺคลํ.  เตนฏฺฐกถายํ  สา  สปฺปุริโสติ  ปสํสนียาทินานปฺปการวิเสสาธิคมเหตุโต  มงฺคลนฺติ  เวทิตพฺพาติ  วุตฺตํ. 

ก็ความเป็นผู้กตัญญูของบุคคลนั้นย่อมให้ถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญว่าบุคคลนี้หาได้ยาก. เพราะเหตุนั้นนั่นแล ความเป็นผู้กตัญญูนั้นจึงชื่อว่าเป็นมงคล. เหตุนั้น ในอรรถกถาท่านจึงกล่าวว่า ความเป็นผู้กตัญญูนั้นบัณฑิตพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษประการต่างๆ มีความเป็นผู้ควรสรรเสริญว่าเป็นสัตบุรุษเป็นต้น.

กตญฺญู  หิ  ทุลฺลโภ  เอว  น  อกตญฺญู  วิย  สุลโภ. อกตญฺญุโน  หิ  พหู  โหนฺตีติ.

ความจริง บุคคลผู้กตัญญูย่อมเป็นผู้หาได้ยากทีเดียว ไม่ใช่หาได้ง่ายเหมือนบุคคลผู้อกตัญญู. เพราะบุคคลผู้อกตัญญูมีมาก ดังนี้แล.

ตตฺถ  กตญฺญู  อิธ  ปสํสาทิหิตํ  ปาปุณาติ  อกตญฺญู  อิธ  นินฺทาทิอหิตํ. 

บรรดาบุคคลทั้งสองจำพวกนั้น บุคคลผู้กตัญญูย่อมบรรลุประโยชน์มีความสรรเสริญเป็นต้นในโลกนี้ บุคคลผู้อกตัญญูย่อมบรรลุสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์มีนินทาเป็นต้นในโลกนี้.

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 371 หน้า 281

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรู้ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกทุกเรื่อง

: แต่ความรู้คุณ ควรแสดงออกทุกเรื่อง

—————–

#บาลีวันละคำ (3,307) (ชุดมงคล 38)

2-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *