ความน่าสงสารของผู้เสพสาร
ความน่าสงสารของผู้เสพสาร
ญาติมิตรจำนวนมากคงต้องอ่านหนังสือพิมพ์ และดูข่าวฟังข่าวตามช่องทางสื่อสารต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
เคยสังเกตตัวเองกันบ้างไหมว่า เมื่อรับสารเข้ามาแล้วเรามีอาการเป็นอย่างไรกันบ้าง
อาการอย่างหนึ่งก็คือ เราจะรู้สึกเหมือนกับว่าเราอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงเราอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเป็นอันมาก
อาจจะห่างคนละซีกโลกหรือห่างเพียงไม่กี่เมตร แต่ก็ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงที่ว่า-เราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ หมายถึงไม่ได้เห็นเหตุการณ์จริงในวินาทีที่เกิดเหตุ ไม่ได้สัมผัสบรรยากาศจริง ของจริงคนจริงเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ต่อหน้าต่อตา-แบบว่าเลือดกระเซ็นมาเปื้อนหน้า หรือถูกชนกระเด็นไปทางหนึ่งเพราะไปอยู่ในที่เกิดเหตุ หรือผู้ก่อเหตุวิ่งผ่านหน้าเราไปหยกๆ ชนิดได้ยินเสียงหอบหายใจ
หลายชั่วโมง บางทีหลายวัน “สาร” นั้นจึงมาสู่การรับรู้ของเรา ผ่านทางผู้สื่อสาร โดยระบบและอุปกรณ์ต่างๆ และที่สำคัญ-เฉพาะภาพ เสียง และข้อความที่ถูกเลือกสรรกลั่นกรองมาแล้ว ซึ่งแน่นอน-ไม่ครบถ้วนทุกรายละเอียดที่เกิดจริง รูป รส กลิ่น เสียง ที่ไม่ได้เป็นไปตามลำดับของเหตุการณ์จริง แต่เป็นไปตามที่ผู้สื่อสารต้องการให้เราเห็น
ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้แหละที่เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยคนหนึ่ง ตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ หดหู่ ฟู่ฟ่า ชอบ ชัง กลัว กังวล โล่งใจ ฯลฯ สารพัดที่จะเป็นไปตามอำนาจของ “สาร” ที่เราเสพ ผ่านสื่อที่มีกระบวนการปรุงปนมาแล้วตามเจตนาหรือตามนโยบายอะไรสักอย่างหนึ่ง อันเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า-ตอกไข่ใส่ข่าว ใส่สีตีไข่ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังทำกันอยู่
พูดกันตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมก็คือ เราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเลย เราไม่เห็นของจริงๆ ตัวจริงๆ เลยสักอย่าง เราเห็นแต่ภาพ ได้ยินแต่เสียง อ่านข้อความ ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองมาแล้ว แล้วเราก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสารที่เสพทำให้เกิดอาการต่างๆ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรต่อไปอีกมากมาย ไม่ผิดอะไรกับจิ้งหรีดที่ถูกปั่นหัว (ขออภัยคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่คุ้นกับสำนวนนี้)
นี่คือความน่าสงสารของคนเสพสาร
แล้วจะให้ทำอย่างไร?
ก็-ยังคงเสพสารไปได้ตามปกติถ้าปรารถนาจะเสพ
แต่ควรปรับกระบวนการตอบรับในตัวเราเสียใหม่
จะลองใช้วิธีของพระพุทธเจ้าดูบ้างก็ได้
เห็นก็สักแต่ว่าได้เห็น
ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน
รู้ก็สักแต่ว่าได้รู้
กำหนดรู้ทันว่า เรากำลังเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้อะไร
แต่อย่าเต้นตาม อย่าตื่นตาม
ใช้ “อุเบกขา” ตามความหมายที่ถูกต้องเป็นตัวกำกับ
อุเบกขาตามความหมายที่ถูกต้องก็คือ เข้าไปเพ่งดูอยู่อย่างใกล้ชิด รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และมีสติเตรียมพร้อมทุกกรณีไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ตื่นตามเต้นตาม
ด้วยวิธีการเช่นนี้ อาการวุ่นวายหรือถึงขั้นโวยวายก็จะไม่เกิด นั่นหมายถึงไม่ต้องเสียพลังไปเปล่าๆ กับการแสดงออกเช่นนั้น และนั่นหมายถึงเรามีโอกาสเตรียมพลังไว้เพื่อจัดการกับอะไรก็ตาม-ที่หากจะเกิดขึ้น-ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และมีสาระ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๐:๐๙