อกัมปิตจิต (บาลีวันละคำ 3,317)
อกัมปิตจิต
ถูกโลกธรรมกระทบ จิตไม่กระเทือน
คำในพระสูตร: ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (ผุด-ถัด-สะ โล-กะ-ทำ-เม-หิ จิด-ตัง ยัด-สะ นะ กำ-ปะ-ติ)
“อกัมปิตจิต” อ่านว่า อะ-กำ-ปิ-ตะ-จิด
“อกัมปิตจิต” เขียนแบบบาลีเป็น “อกมฺปิตจิตฺต” อ่านว่า อะ-กำ-ปิ-ตะ-จิด-ตะ แยกศัพท์เป็น อกมฺปิต + จิตฺต
(๑) “อกมฺปิต”
อ่านว่า อะ-กำ-ปิ-ตะ รากศัพท์มาจาก น + กมฺปิต
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “กมฺปิต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ก– จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “กมฺปิต”
อ่านว่า กำ-ปิ-ตะ เป็นรูปคำกิริยากิตก์ รากศัพท์มาจาก กมฺปฺ (ธาตุ = หวั่นไหว) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมหลังธาตุ หน้าปัจจัย (กมฺปฺ + อิ + ต)
: กมฺปฺ + อิ + ต = กมฺปิต แปลตามศัพท์ว่า “หวั่นไหวแล้ว” หมายถึง อยู่ในสภาพปั่นปวน, ถูกกระทบกระเทือน (agitated, troubled)
รูปศัพท์เดิมที่เป็นกิริยาอาขยาตตามคำในพระสูตรคือ “กมฺปติ” (กำ-ปะ-ติ – ดูข้างต้น) แปลว่า สั่น, สะเทือน, แกว่ง (to shake, tremble, waver)
“กมฺปติ” แปลงเป็นกิริยากิตก์เป็น “กมฺปิต” ใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย
น + กมฺปิต = นกมฺปิต > อกมฺปิต แปลว่า “ไม่หวั่นไหว” หมายถึง ไม่สะเทือน, ไม่หวั่นไหว, มั่นคง (not trembling, unhesitating, steadfast)
(๒) “จิตฺต”
อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)
: จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –
The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)
“จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”
อกมฺปิต + จิตฺต = อกมฺปิตจิตฺต (อะ-กำ-ปิ-ตะ-จิด-ตะ) แปลว่า “จิตไม่หวั่นไหว”
“อกมฺปิตจิตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อกัมปิตจิต” (อะ-กำ-ปิ-ตะ-จิด)
“อกัมปิตจิต” เป็นลักษณะจิตของผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองมาโดยลำดับตามแนวทางแห่งมงคลสูตร ตั้งแต่ไม่คบคนพาลเป็นต้นมาจนถึงทำพระนิพพานให้แจ้ง
เมื่อมาถึงขั้นนี้ ผลก็จะแสดงออก นั่นคือเมื่อถูกโลกธรรมกระทบ กล่าวคือเมื่อมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับสรรเสริญ ถูกนินทา ได้สุข ได้ทุกข์ จิตก็ไม่หวั่นไหว
ถ้าเพียงแค่ควบคุมกิริยาวาจาให้เป็นปกติได้แนบเนียน แต่จิตใจยังหวั่นไหวอยู่ เช่นนี้ก็ยังไม่ใช่มงคลข้อนี้
อาการไม่หวั่นไหวนั้นต้องออกมาจากจิต เมื่อจิตไม่หวั่นไหวเสียแล้ว อาการอื่นๆ ก็เป็นอันไม่เกิดไม่มีอยู่เอง
มงคลข้อนี้เป็นอันยืนยันว่า ผู้บรรลุนิพพานนั้นไม่ใช่ผู้ที่หลีกเร้นไปอยู่นอกโลก ไม่เอาสังคม อย่างที่เรามักเข้าใจหรือวาดภาพให้เป็นเช่นนั้น ผู้บรรลุนิพพานยังคงอยู่ในสังคมอยู่กับโลกเหมือนคนทั่วไปนั่นเอง และเมื่ออยู่ในโลกก็ต้องถูกโลกธรรมกระทบเป็นธรรมดา
ข้อแตกต่างระหว่างคนธรรมดากับคนที่บรรลุนิพพานก็คือ คนธรรมดาเมื่อถูกโลกธรรมกระทบก็กระเทือน เช่นมีลาภก็ฟู เสื่อมลาภก็แฟบ ทำให้สูญเสียศักยภาพที่จะทำกิจต่างๆ ให้เกิดผลดี ส่วนคนที่บรรลุนิพพานแล้วถูกโลกธรรมกระทบก็ไม่กระเทือน จึงมีศักยภาพสมบูรณ์ในอันที่จะบำเพ็ญกรณียกิจให้บังเกิดผลดีได้อย่างเต็มที่
…………..
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 35 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ” (ผุด-ถัด-สะ โล-กะ-ทำ-เม-หิ จิด-ตัง ยัด-สะ นะ กำ-ปะ-ติ) แปลว่า “ถูกโลกธรรมกระทบ จิตไม่กระเทือน”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
35. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว — Akampitacitta: to have a mind which is not shaken when touched by worldly vicissitudes)
…………..
ในคัมภีร์ท่านขยายความ “อกัมปิตจิต = ถูกโลกธรรมกระทบ จิตไม่กระเทือน” ไว้ดังนี้ –
…………..
ยสฺส โลกธมฺเมหิ ผุฏฺฐสฺส จิตฺตํ น กมฺปติ ตสฺส จิตฺตํ เกนจิ อกมฺปนียํ โลกุตฺตมภาวาวหนโต มงฺคลนฺติ เวทิตพฺพํ.
จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายกระทบแล้วย่อมไม่กระเทือน จิตของผู้นั้นอันโลกธรรมไรๆ พึงให้หวั่นไหวไม่ได้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดในโลก
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 564 หน้า 434
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีอะไรที่มีแล้วจะไม่มี
: นอกจาก “ความไม่มี”
—————–
#บาลีวันละคำ (3,317) (ชุดมงคล 38)
12-7-64