บาลีวันละคำ

จำวัด-มีที่มาอย่างไร (บาลีวันละคำ 810)

จำวัด-มีที่มาอย่างไร

ขอโอกาสสรุปความเห็นไว้ใน บาลีวันละคำ อีกครั้งหนึ่ง

(ดูเพิ่มเติมที่ :

วัตร” บาลีวันละคำ (423) 12-7-56

ศีล 227” บาลีวันละคำ (555) 22-11-56

“จำพรรษาไม่ใช่จำวัด” บาลีวันละคำ (785) 12-7-57

และบทความเรื่อง “ภาษาออกมาจากใจ” 30 กรกฎาคม 2557)

(๑) มีคำ 2 คำ ที่ควรเข้าใจก่อน คือ ศีล และ วัตร

ศีล” บาลีเป็น “สีล” อ่านว่า สี-ละ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เครื่องผูกจิตไว้” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

คำจำกัดความสั้นๆ ที่คุ้นกันดี ศีล คือการรักษากาย (การกระทำ) วาจา (คำพูด) ให้เรียบร้อย

(rule, moral practice, good character, good conduct; keeping moral habits, code of morality)

(๒) “วัตร” แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่ดำเนินไป” หมายถึง –

(1) กิจพึงกระทํา เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น

(2) หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ

(3) ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร

(4) ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร

(5) การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร

ความหมายเด่นของ “วัตร” ก็คือการปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับศาสนาเป็นพิเศษจากการดำเนินชีวิตตามเวลาปกติ

(ritual, observance, vow, virtue, ceremonial observance)

ศีล และ วัตร ในบาลีมักมาคู่กันเป็น “สีลพฺพต” (สี-ลับ-พะ-ตะ) = ศีลและวัตร (good works and ceremonial observances)

(๓) สำหรับชาวบ้าน ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องถือศีล แต่เมื่อถึงโอกาสพิเศษเช่นวันพระ ถ้าตั้งใจถือศีล มีคำเก่าเรียกว่า “จำศีล

(๔) สำหรับพระภิกษุสามเณร การถือศีลไม่นิยมเรียกว่า “จำศีล” เพราะต้องถือศีลเป็นพื้นของชีวิตอยู่แล้ว มิใช่ถือเป็นครั้งคราวเหมือนชาวบ้าน แต่เมื่อท่านประพฤติวัตรพิเศษจากชีวิตปกติ เช่น เจริญกรรมฐานเป็นเวลา 1 เดือน ถือธุดงควัตรอยู่ในป่าช้าเป็นเวลา 3 เดือน การประพฤติเช่นนั้นมีคำเรียกว่า “จำวัตร

ลักษณะเด่นของ “จำวัตร” ก็คือ อยู่ตามลำพัง งดการติดต่อพูดคุยกับใครๆ สำรวมกิริยาวาจาใจให้สงบเงียบ

เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรสงบเงียบอยู่ตามลำพัง จึงเรียกกันว่า ท่าน “จำวัตร” แล้วเลยพลอยเรียกอาการที่ท่านนอนหลับว่า “จำวัตร” ไปด้วย

(๕) คำเป็นแนวเทียบที่อาจช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็อย่างเช่นเจ้านายสิ้นพระชนม์ เรามีคำใช้ว่า “สวรรคต” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ไปสวรรค์” ข้อเท็จจริงท่านจะไปสวรรค์หรือไปภพภูมิไหนเราไม่ทราบ แต่เราถวายพระเกียรติให้เห็นว่ากิริยาที่ท่านสิ้นพระชนม์นั้นเป็นการ “สวรรคต” = ไปสวรรค์

กิริยาที่พระภิกษุสามเณรอยู่สงบเงียบตามลำพัง ท่านกำลังเจริญจิตภาวนา หรือกำลังนอนหลับก็แล้วแต่ท่าน แต่เราเรียกด้วยความเคารพว่า ท่าน “จำวัตร” = สำรวมจิตเป็นกิจพิเศษ

(๖) ในคำว่า “จำศีล” “จำวัตร” นี้ คำหลักหรือน้ำหนักอยู่ที่ “-ศีล” และ “-วัตร” ไม่ได้อยู่ที่ “จำ-” ซึ่งชวนให้ตีความว่า “อยู่ประจำ-”

ชาวบ้านอยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แม้อยู่ประจำที่วัด แต่ถ้าไม่ได้ถือศีล จะเรียกว่า “จำศีล” หาได้ไม่ ตรงกันข้าม ผู้ที่ตั้งใจถือศีลในวันพระ เช้าอยู่ที่หนึ่ง กลางวันอยู่ที่หนึ่ง กลางคืนไปอยู่อีกที่หนึ่ง ไม่ได้อยู่ประจำที่เลย ก็ยังคงเรียกได้ว่า “จำศีล” อยู่นั่นเอง แม้ “จำวัตร” ก็มีนัยเดียวกัน

(๗) อักขรวิธีของหนังสือเก่านั้นจะเอาตัวสะกดการันต์เป็นแน่นอนไม่ได้ เช่นคำว่า “ขออภัย” คนเก่าๆ สะกดคำนี้หลากหลายรูป เช่น อาภัย อะภัย อะไพ อาไพ อาไภย อะไภย อะไภย์ อะพัย หรือแม้แต่ ขออำไพ

คำว่า “จำวัตร” เมื่อเขียนเอาแต่เสียง ไม่คิดถึงรูปคำ ก็ชวนให้สะกดได้หลากหลายเช่นกัน เช่น จำวัต จำวัฒน์ จำวัตน์ จำวัติ จำวัทธ์ ฯลฯ แต่รูปคำที่สะดวก ง่าย ตรงเสียงตรงตัว และเป็นธรรมดาสามัญที่สุดก็คือ “จำวัด

(๘) เมื่อเขียนแบบนี้กันมากเข้า นานเข้า คำว่า “จำวัด” ซึ่งเขียนผิดก็กลายเป็นคำถูกไป และเข้าใจกันในความหมายว่า “พระนอนหลับ” ทั้งรูปคำและความหมายกลายไปจากเดิมจนหมดสิ้น

จำวัตร = สำรวมจิตเป็นกิจพิเศษ

จำวัด = พระนอนหลับ

(๙) เนื่องจาก “จำวัด” ที่เขียนผิดจนถูกไปแล้วนี้ใช้กับ “พระ” ซึ่งย่อมจะชวนให้ประหวัดไปถึง “วัด” ได้ง่าย คนภายหลังที่ไม่ได้สืบสอบถึงที่มาของคำ จึงเข้าใจไปว่า “วัด” (ซึ่งเขียนผิดมาจาก –วัตร) ในคำว่า “จำวัด” นี้ ก็คือ ที่อยู่ของพระ (วัด : สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือนักบวช – พจน.54) และเข้าใจว่า “จำ” คือ “อยู่ประจำ” ดังนั้น จำวัด จึง = อยู่ประจำที่วัด

เมื่อจะกล่าวถึงพระว่าอยู่ประจำที่วัดไหน จึงใช้คำพูดไปโดยไม่ต้องคิดอะไรมากว่า “พระกอจำวัดที่วัดขอ” โดยไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องสำรวมจิตเป็นกิจพิเศษ หรือเรื่องพระนอนหลับ แต่ประการใดทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่า ความหมายของคำว่า “จำวัด” ที่เคลื่อนมาจาก “จำวัตร” กำลังเคลื่อนที่ไปอีกต่อหนึ่งแล้ว

(๑๐) มีผู้ถามว่า ถ้าไม่เรียกกิริยาที่พระนอนหลับว่า “จำวัด” แล้วจะใช้คำว่าอะไร ?

คำตอบคือ ก็ใช้คำว่า “จำวัด” นั่นแหละ ไม่ต้องเสียเวลาไปคิดคำใหม่เลย แต่เอาเวลาไปช่วยกันให้ความรู้แก่คนที่ยังไม่รู้หรือรู้ผิดๆ แล้วช่วยกันกระตุ้นเตือนคนของเราให้เกิดความรักที่จะสนใจใฝ่รู้ขึ้นมา จะดีกว่าด้วยประการทั้งปวง

: ปัญหาทั้งปวงเกิดจากความไม่รู้ และรู้ผิด

: แต่ที่ลึกลงไปในดวงจิต ก็คือการไม่คิดที่จะใฝ่รู้

#บาลีวันละคำ (810)

6-8-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *